โรคลมแดด (Heatstroke) เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ถ้ามีโรคประจำตัวหรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนจัด โดยผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ประกอบกับมักมีโรคประจำตัว หรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้ ปกติร่างกายมีการเผาผลาญอาหารและสร้างความร้อนจากภายในตัวตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ ทางผิวหนังร่วมกับต่อมเหงื่อ เมื่ออยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนจัดร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้นและร่างกายขาดน้ำมากขึ้น หากไม่ได้รับน้ำทดแทนที่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเกิดอาการ shock เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การวินิจฉัยอาการป่วยจากโรคลมแดด (Heatstroke)
1.ร่างกายมีอุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปแต่ไม่มีเหงื่อ หรือบางรายเหงื่อออกมาแต่ตัวเย็นร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น
2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือ ชัก
3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน หรือ ออกกำลังกายหนัก
4. กระหายน้ำมาก
วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดในผู้สูงอายุ ดังนี้
1.การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง
2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
3. อยู่ในสถานที่ที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ
4. อาบน้ำเย็นบ่อยๆ
5.ดื่มน้ำ (น้ำเปล่า น้ำผัก ผลไม้หรือน้ำเกลือแร่กรณีสูญเสียเหงื่อมาก) ให้เพียงพอ
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
7. ลดการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ใช้พัดลมพัดเพื่อระบายความร้อน และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที
กรมการแพทย์
30 เมษายน 2567