ภัยเงียบที่มาพร้อมกับความอร่อย บะหมี่หนึ่งซอง.... ก็เค็มเกินพอ

ที่มา : ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

 


คนเราควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา


ในบะหมี่ซองหนึ่ง โดยเฉพาะสูตรต้มยำต้มโคล้ง สูตรน้ำข้นทั้งหลาย เกลือขึ้นไปถึง 2,000 มิลลิกรัม เพราะฉะนั้นกินซองเดียวก็หมดโควต้าไปแล้วหนึ่งวัน แต่ถ้าเป็นสูตรธรรมดาก็ประมาณ 1,200-1,500 มิลลิกรัม ก็เท่ากับ 60-70% ของความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน คือปกติหนึ่งมื้อเราต้องการโซเดียม 600 มิลลิกรัม สามมื้อก็ 1,800 มิลลิกรัม บวกขนมเข้าไปอีกก็ครบ 2,000 มิลลิกรัม บะหมี่ทั้งหลายจะเริ่มจาก 1,200 มิลลิกรัม รองลงมาคือโจ๊กที่เป็นซองๆ สำเร็จรูป จะเค็มมาก ประมาณ 800 มิลลิกรัม


ข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เชื่อแน่ว่าประชาชนกว่า 90% จะต้องไม่ทราบ และนี่คือหน้าที่ของเครือข่ายลดบริโภคเค็มที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเค็มเกินจำเป็น ผ่านสื่อต่างๆ และการออกบูธจัดกิจกรรมให้ความรู้ที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตามบ้าง
เกลือกว่า 70% ได้มาจากเครื่องปรุงรส เพราะในอาหารธรรมชาติจะมีเกลือน้อย อย่างเนื้อสัตว์ก็จะไม่เค็ม แต่ที่เราเค็มก็เพราะเอาไปหมักเกลือ หมักซีอิ๊ว หมักซอสปรุงรส แล้วเกลือส่วนใหญ่ 50% จะปรุงในครัวโดยพ่อครัวแม่ครัว เขาปรุงมาให้หมดแล้ว น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ซุปก้อน น้ำพริก ส่วนเกลืออีก 20% จะอยู่บนโต๊ะ อย่างเวลาเราไปกินหมูกระทะ หมูก็หมักมาอยู่แล้ว แถมบนโต๊ะยังมีน้ำจิ้มตั้ง 4 ถ้วย หรืออย่างสุกี้ที่เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีผักเยอะ แต่ว่าน้ำจิ้มกลับไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ เพราะเกลือเยอะ อย่างอาหารในร้านสะดวกซื้อที่เค็มกว่าปกติ สมมติว่าซื้อข้าวผัด ถ้าเทียบกันกับร้านอาหารตามสั่งทั่วไป ร้านสะดวกซื้อจะเค็มกว่า 30% เพื่อทำให้อาหารอยู่ได้นาน ไม่เสีย

ที่มา https://www.thaihealth.or.th/?p=362478