อย. ห่วงใย เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ แนะให้เปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน มัน เค็ม

17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก อย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคความดันโลหิตให้หายขาด แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลือกบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)”


เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญ ถือเป็น “ฆาตกรเงียบ” เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ แต่ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจหนา ไตวาย เป็นต้น จากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวนสูงถึง 507,104 คน จึงทำให้ผู้ไม่หวังดีลักลอบโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อวดอ้างช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีความห่วงใย จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค เช่น ช่วยลดความดันโลหิต รักษาความดันโลหิตสูง ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้ป่วยความดันโลหิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นต้น


ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ผู้บริโภคหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs (Non-communicable diseases) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ให้มองหาสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลาก ซึ่งเครื่องหมายนี้จะบอกปริมาณสารอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่เหมาะสมต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน เช่น น้ำปลาทั่วไป 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียม ประมาณ 1,500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลามีสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนโต๊ะ จะมีโซเดียมไม่เกิน 900 มิลลิกรัม เป็นต้น


รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองฉลากทางเลือกสุขภาพให้ได้เลือกสรรมากถึง 14 กลุ่มอาหารได้แก่ อาหารมื้อหลักเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม น้ำมันและไขมัน ขนมปัง อาหารเช้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ รวม 3,024 ผลิตภัณฑ์ สามารถหาซื้อได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้านค้าทั่วไป ทั้งนี้ ก่อนซื้อผู้บริโภคสามารถนำเลขสารบบอาหารเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ได้ที่เว็บไซต์ healthierlogo.com ทั้งนี้ หากสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งดำเนินการได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ