นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัชวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงามทำให้มีดวงตาโตหรือดวงตามีสีสันเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กนักเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้ใหญ่ เนื่องจากสามารถซื้อหาได้ง่าย มีราคาถูกปัจจุบัน คอนแทคเลนส์มีหลายสีสันแตกต่างกัน กลุ่มที่นิยมจึงแลกกันใช้ในหมู่เพื่อน หรือหาซื้อคอนแทคเลนส์มือสองทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า เนื่องจากคอนแทคเลนส์ เป็นของใช้ที่ควรใช้เฉพาะตัวไม่ควรใช้ปะปนกับคนอื่น เพราะเสี่ยงต่อกระจกตาเป็นแผลถลอก การอักเสบของกระจกตาและเยื่อบุตา,ติดเชื้อโรคที่มากับน้ำตาได้ ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อให้ได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตาและได้รับคำแนะนำในการใช้และการดูแลรักษาที่ถูกต้อง หรือหากมีอาการผิดปกติจากการใช้คอนแทคเลนส์ ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์ และรีบพบจักษุแพทย์ทันที
แพทย์หญิงวธูกานต์ รุ่งภูวภัทร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มว่า การใช้คอนแทคเลนส์ควรปรึกษาจักษุแพทย์ และตรวจติดตามทุกปี เพื่อตรวจดวงตาและวัดค่าสายตาความโค้งกระจกตาเพื่อเลือกคอนแทคเลนส์ที่พอดีกับดวงตา ผู้ใช้ คอนแทคเลนส์ควรทราบถึงวิธีใช้ที่ถูกต้องตามชนิดของคอนแทคเลนส์ เช่น คอนแทคเลนส์รายเดือน ต้องถอดคอนแทคเลนส์แช่น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดหลังใช้ทุกครั้ง คอนแทคเลนส์รายวันใช้ครั้งเดียวทิ้ง และควรพบจักษุแพทย์ทันที หากมีอาการเจ็บ ปวด เคือง ตาแดง มองไม่ชัด มีขี้ตา น้ำตาไหลมาก ตาไม่สู้แสง และไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด การใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกันอาจเป็นการได้รับเชื้อโรค โดยไม่รู้ตัว เชื้อไวรัสเอชไอวีในโรคเอดส์ โรคตับอักเสบที่อาจแฝงอยู่ในน้ำตาที่ติดอยู่ในคอนแทคเลนส์ และที่สำคัญไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่นอน และไม่ควรใส่ว่ายน้ำ หยอดน้ำตาเทียมอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์มักทำให้มีภาวะตาแห้ง ทั้งนี้หากจะใช้คอนแทคเลนส์ผู้สวมใส่ควรดูตามความเหมาะสม ข้อบ่งชี้ในการใช้ และการดูแลคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง ถูกหลักทางการแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติจากการใส่คอนแทคเลนส์ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์และปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
************************************
12 มิถุนายน 2567