หญิงตั้งครรภ์ รับวัคซีนอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ทำไมการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญ ?
แม้ว่าคุณจะเคยได้รับวัคซีนต่างๆ อย่างครบถ้วนมาแล้ว แต่เมื่อตั้งครรภ์ จะมีปัจจัยต่างๆ ที่คุณอาจยังไม่ทราบมาเกี่ยวข้อง เช่น คุณอาจต้องได้รับวัคซีนบางชนิดซ้ำเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยในครรภ์ เนื่องจากทารกในช่วงแรกเกิดนั้นมีข้อจำกัดในการรับวัคซีนบางชนิด จึงต้องอาศัยการได้รับภูมิคุ้มกันผ่านมารดาเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อันตราย ก่อนที่จะมีความพร้อมในการได้รับวัคซีนต่อไป หรือในส่วนของตัวคุณแม่เอง ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อตั้งครรภ์ ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น การฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยลดโอกาสของการเจ็บป่วยต่อโรคนั้นๆ ลง


วัคซีนใดบ้างที่จำเป็นในหญิงตั้งครรภ์ ?
โดยปกติแล้วผู้หญิงทุกคนควรได้รับวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นอย่างครบถ้วนก่อนที่จะตั้งครรภ์ แต่หากยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดใดหรือยังได้รับไม่ครบถ้วน จะต้องมีการวางแผนการรับวัคซีนขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมร่วมกับแพทย์ ซึ่งวัคซีนที่มีความจำเป็นในหญิงตั้งครรภ์ จะประกอบไปด้วยวัคซีน 2 รายการ ดังต่อไปนี้
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และมีโอกาสที่จะเกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจเป็นอันตรายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้นได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ โดยภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในมารดาจะสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ และสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมไปถึงระยะแรกเกิดของทารกได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์จะต้องเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเท่านั้น


วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Tdap) เป็นวัคซีนที่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ฉีดในทุกๆ การตั้งครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่แพร่กระจายได้ง่าย ก่อให้เกิดโรครุนแรง สามารถทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวจนถึงเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ โรคไอกรนยังเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรนไม่ครบถ้วน หากมารดาได้รับวัคซีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนที่สร้างขึ้นจะสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรกได้ ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน จนกระทั่งมีอายุเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนพื้นฐานในเด็กได้


ปัจจัยอื่นๆ ที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการรับวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์
1.นอกจากแม่และเด็กเองแล้ว การให้วัคซีนในผู้ที่ใกล้ชิดกับทารกในช่วงแรกเกิดก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ในกรณีของพี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงญาติหรือสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดอย่างปู่ย่าตายาย ซึ่งจะแนะนำให้รับวัคซีน Tdap อย่างครบถ้วนมาก่อน หากจะต้องให้การดูแลทารกอายุไม่เกิน 12 เดือน
2.เนื่องจากมีวัคซีนหลายชนิดที่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คู่สามี-ภรรยาที่วางแผนมีบุตรล่วงหน้าควรตรวจสอบประวัติวัคซีนและรับวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วนก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ เป็นการลดความซับซ้อนในการวางแผนการรักษาหรือการฝากครรภ์ ช่วยคลายความกังวลใจต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนที่อาจจะต้องให้ระหว่างที่ตั้งครรภ์ และมั่นใจว่าได้รับการปกป้องจากวัคซีนอย่างครบถ้วนเมื่อตั้งครรภ์
3.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella, MMR) หรือวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella) มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ การรับวัคซีนเหล่านี้จึงควรรอหลังจากคลอดบุตรแล้ว ในกรณีที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ด้วยการคุมกำเนิดแบบต่างๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนดังกล่าว
4.ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคตับอักเสบเอ ตับอักเสบบี พิษสุนัขบ้า แพทย์อาจพิจารณาให้รับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวได้ หรือในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ต้องเดินทางไปยังพื้นที่โรคระบาด แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติม เช่น วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคได้เช่นกัน


ในระหว่างตั้งครรภ์หรือในขณะที่วางแผนตั้งครรภ์ มีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระวังเกี่ยวกับการระบาดของโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งโรคที่มีอยู่เดิมหรือโรคที่เกิดขึ้นใหม่ การติดตามข้อมูลด้านสุขภาพจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือการขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและวางแผนการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม


ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/june-2024/vaccinations-in-pregnancy