อาการเจ็บคอที่หลายคนคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาและปล่อยไว้จนเรื้อรังไม่หายซักที นั่นอาจไม่ใช่เพียงไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นการอักเสบจากต่อมชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีชื่อว่า “ต่อมทอนซิล” ซึ่งมีหน้าที่คอยช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากและจมูก หากต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบมักส่งผลรบกวนต่อชีวิตประจำวันได้
ทำความรู้จัก “ต่อมทอนซิล”
ต่อมทอนซิล (Tonsils) เป็นเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอที่ภายในต่อมจะมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดอยู่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนระบบภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อผ่านการดักจับและกรองเชื้อโรค เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่ผ่านเข้ามาทางปากและจมูกลุกลามเข้าสู่ร่างกาย
ต่อมทอนซิลอักเสบ...อาจมีต้นเหตุจากแบคทีเรีย
ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือ Tonsillitis คือ ภาวะที่ต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยแต่เดิมหน้าที่ของต่อมทอนซิลจะเป็นการดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร แต่หากเกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้า ประสิทธิภาพในการคัดกรองเชื้อโรคก็จะลดลง ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจนทำให้ต่อมทอนซิลเกิดอาการบวมและอักเสบ
เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ...สังเกตอาการได้ดังนี้
หากเกิดภาวะทอนซิลอักเสบ อาการที่จะแสดงเบื้องต้นอาจคล้ายกับโรคคออักเสบทั่วไป เช่น มีไข้สูง ไอ มีเสมหะ ปวดหัว แต่จะมีอาการจำเพาะบางอาการที่สามารถระบุได้ว่าเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ เช่น
*เจ็บคอมาก บริเวณด้านข้างของช่องปาก
* ต่อมทอนซิลบวมแดง และมีจุดขาวหรือหนองบนทอนซิล
* กลืนอาหารลำบาก
* ปวดหูหรือคอ
หากปล่อยไว้อาจอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
ในผู้ป่วยที่เป็นต่อมทอนซิลอักเสบบางราย หากเกิดอาการรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินหายใจ และหากปล่อยไว้นานเข้าหรืออักเสบบ่อยๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ขนาดของต่อมทอนซิลจะโตขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในที่สุด เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือฝีรอบทอนซิล
มีกลิ่นปาก
ต่อมทอนซิลอักเสบ...รักษาได้ด้วยวิธีเหล่านี้
การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีไข้ หรือเจ็บคอเล็กน้อย โดยปกติจะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการทานยา แต่จะเน้นการดูแลตัวเองเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูและกำจัดโรคไปได้เอง เช่น พักผ่อนให้มากขึ้น รับประทานอาหารให้เพียงพอและถูกหลักโภชนาการ และออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น หากอาการไม่รุนแรงมาก ร่างกายจะกลับดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง เจ็บคอมาก รู้สึกกลืนลำบาก ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าต่อมทอนซิลมีอาการบวมแดงหรือมีหนองบนทอนซิล แพทย์จะใช้วิธีรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นใน 3 - 7 วัน
นอกจากนี้ หากการรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการอักเสบยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดทอนซิลออก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาหากผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ว่าควรผ่าตัด
ป้องกันตัวเองก่อนเป็นทอนซิลอักเสบ
แม้จะบอกว่าป้องกัน แต่การเกิดต่อมทอนซิลอักเสบก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคได้ โดยปฏิบัติตามดังนี้
* ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการหรือสุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดหรือเจ็บคอ
* ไม่ใช้ช้อนส้อม แก้วน้ำ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดฟันร่วมกับผู้อื่น
* ดูแลสุขอนามัยช่องปาก เช่น เปลี่ยนแปลงสีฟันทุกๆ 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ป่วย
* ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หรือทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น
* หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสูดดมควันบุหรี่
จะเห็นได้ว่าการดูแลตัวเองให้แข็งแรงนั้นมีส่วนสำคัญที่สามารถช่วยป้องกันภัยสุขภาพต่างๆ และยังส่งเสริมสุขภาพโดยรวม และลดความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ นอกจากทอนซิลอักเสบได้อีกด้วย แต่หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่คล้ายกับภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์พิทยา กนกจรรยา
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/