ล่าสุด WHO หรือองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง (mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องมาจากการระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้น
พบการระบาดของ ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ Clade Ib เพิ่มขึ้นในแถบแอฟริกา สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่ายและรุนแรงกว่าเดิม โดยสิ่งที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผู้ป่วยเด็กสูงถึง 70% และยังพบผู้ติดเชื้อนอกแอฟริกาเป็นครั้งแรก (สิงหาคม, 2024)
โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ
* มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
* มีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง บนผิวหนัง
* บางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน ไอ เจ็บคอ
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลางหรือเคลดวัน (Clade I) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือเคลดทู (Clade II) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์อาจทำให้เสียชีวิต แต่จากสถิติ สายพันธุ์เคลดวันจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิด อาการมักไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยพบอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ 4 ใน 100 คน
ฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่แพร่สู่คนผ่านทางสัตว์ที่ติดเชื้อ และยังสามารถแพร่จากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัส หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส สำหรับการป้องกัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น
เฝ้าระวัง แต่ไม่ตื่นตระหนก! สังเกตอาการในกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากทวีปแอฟริกา หมั่นดูแลสุขภาพ และรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิครินทร์ https://www.sikarin.com/health/mpox-clade1b