‘น้ำตาลหล่อฮังก้วย’ สารให้ความหวานที่หมอแนะนำ

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนหันมาสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค อีกทั้งทางการแพทย์ยังนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องปรุงรสอาหารสำหรับผู้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วย


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมีหลายชนิด ซึ่งอาจจะมีแบบให้พลังงานหรือแบบไม่ให้พลังงาน ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ และลดน้ำหนัก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ออกมาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม แต่ไม่ใช่ทุกชนิดที่สามารถรับประทานได้โดยไม่จำกัดปริมาณ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ก่อนที่จะใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ควรศึกษาให้ละเอียด ดูข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนใช้หรือบริโภค หากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค การเลือกใช้สารทดแทนความหวานที่เหมาะสม และรับประทานในปริมาณที่จำกัดจะได้ประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ


นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า สารให้ความหวาน คือ สารที่ให้รสสัมผัสที่หวาน สามารถนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการประกอบอาหารและผสมเครื่องดื่ม โดยสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมี 2 แบบ
แบบที่ 1 สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน ซึ่งแบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. สารให้ความหวานชนิดกลุ่มของน้ำตาล เช่น กลูโคส, ซูโคส, ฟรุกโตส ส่วนใหญ่อยู่ในนม น้ำตาลทราย ผลไม้ และ 2. สารให้ความหวานที่เป็นแอลกอฮอล์ของน้ำตาล ให้พลังงานต่ำ อัตราการดูดซึมและอัตราย่อยสลายน้อยกว่ากลุ่มของน้ำตาล เช่น ไซลิทอล พบได้ใน พืช ผัก ผลไม้ตามธรรมชาติ ซอร์บิทอล สกัดได้จากอ้อย และมันสำปะหลัง
แบบที่ 2 สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. สารให้ความหวานที่สังเคราะห์ เช่น แอสปาร์แตม ไม่มีกลิ่น รสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด
2. สารให้ความหวานที่มาจากธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่จะมีหลัก ๆ 2 ชนิด คือ หญ้าหวานกับสารสกัดจากหล่อฮังก้วย หรือสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งไม่มีแคลอรี่


นพ.พัทธวุฒิ จันทูปมา หัวหน้าหน่วยเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยกล้าที่จะรับประทานสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เนื่องจากกลัวผลเสียของสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งเรื่องที่มักจะถูกเข้าใจผิดมีดังนี้
1. เรื่องของโรคมะเร็ง เป็นความเชื่อมายาวนานว่าในกลุ่มของขัณฑสกรจะทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะงานวิจัยที่ออกมาถ้าจะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จะต้องใช้ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก เช่น ปริมาณที่เป็นพิษต่อร่างกาย
2. ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะมีงานวิจัยออกมาว่าสามารถที่จะใช้ในการลดน้ำหนัก และใช้ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้เมื่อเทียบกับการใช้น้ำตาลทรายปกติ
3. การทำให้แบคทีเรียชนิดดีทำงานได้ไม่เต็มที่หรือตายไป เป็นเรื่องที่ไม่จริง ถ้าจะทำลายได้ต้องใช้ในปริมาณมาก ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราจะไม่สามารถรับประทานได้มากขนาดนั้น อีกทั้งบางชนิดอาจทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติกส์หรือเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ด้วย สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการไม่ใส่ทั้งน้ำตาลและไม่ใส่สารให้ความหวานทดแทน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รองรับว่าการกินสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลไม่เพิ่มความอยากอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


อย่างไรก็ตาม สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลก็ยังคงให้รสชาติที่หวานอยู่ ดังนั้นแล้วคนที่ได้รับสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจะยังคงติดรสหวานอยู่ ฉะนั้น สารให้ความหวานที่หมอแนะนำ คือ น้ำตาลหล่อฮังก้วย ซึ่งเป็นสารให้ความหวานโดยธรรมชาติ ผลข้างเคียงค่อนข้างต่ำ และยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทั้งนี้ น้ำตาลและสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมีทั้งประโยชน์และมีทั้งโทษ การรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 


ขอบคุณภาพ : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล https://workpointtoday.com/monk-fruit/