น้ำกับร่างกายของเรา

สุนทร  ตรีนันทวัน

น้ำ เป็นเรื่องที่จำเป็นกับชีวิตและร่างกายของเราอย่างมากทีเดียว น้ำเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุก ๆ เซลล์ในร่างกาย ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกาย ช่วยลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้วไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เป็นต้น


ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่า ถ้าเราขาดออกซิเจนเพียงไม่กี่นาทีเราก็เสียชีวิตแล้ว ถ้าขาดอาหารแล้วร่างกายจะอยู่ได้หลายสัปดาห์เหมือนกัน แต่ถ้าขาดน้ำแล้วไม่เกิน 2 สัปดาห์ เราก็เสียชีวิตด้วยเช่นกัน


ร่างกายของคนเราประกอบด้วยของเหลวประมาณร้อยละ 60 – 70 ของน้ำหนักตัว หรือเป็นน้ำเสีย 2 ส่วนใน 3 ส่วน น่าสงสัยนะครับว่าในร่างกายของเรามีน้ำ 2 ใน 3 ส่วน และน้ำเหล่านั้นอยู่ตรงส่วนไหน


น้ำครึ่งหนึ่งจะอยู่ในเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ในเลือด น้ำเหลือง เนื้อเยื่อ ลำไส้ ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
หน้าที่ของน้ำในร่างกายมีหน้าที่หลายประการเช่น
1. เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเซลล์ทั่วร่างกาย
2. เป็นส่วนประกอบของเลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำย่อยอาหาร เหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำ
ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
3. ทำหน้าที่ละลายอาหารที่ย่อยแล้วและแพร่ผ่านผนังหลอดเลือดที่ลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด
4. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ และนำของเสียต่าง ๆ ในร่างกายไปขับถ่ายในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ผิวหนัง และไต
5. ช่วยหล่อลื่นให้อวัยวะต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวได้ดีและทำงานได้ตามปกติ เช่น น้ำในข้อต่อ ในช่องท้อง ในช่องปอด
6. ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ตลอดเวลา รวมทั้งทำให้ร่างกายสดชื่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาด้วย


เรียกได้ว่าน้ำทำหน้าที่สารพัดอย่างเพื่อให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และที่สำคัญคือ น้ำในร่างกายของเรานั้นไม่ได้มีจำนวนคงที่ตลอดไป น้ำจะสูญเสียออกไปจากร่างกายของเราตลอดเวลาเช่นกัน คือ สูญเสียไปทาง
- ปัสสาวะ   1.5 ลิตร
- อุจจาระ    0.1 ลิตร
- ปอด(หายใจเป็นไอน้ำ) 0.4 ลิตร
- เหงื่อ      0.6 ลิตร


รวมแล้วประมาณ 2.6 ลิตร ซึ่งก็นับว่ามากพอดู เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องรับน้ำเข้าไปชดเชยกับส่วนที่สูญเสียไปเช่นกัน โดยเราต้องดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร นอกจากได้จากดื่มน้ำแล้ว อาหารต่าง ๆ ที่เรารับประทานในแต่ละวันก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งรับประทานผลไม้บางชนิด เช่น แตงโมก็ยิ่งมีน้ำมากด้วย


ถ้าร่างกายขาดน้ำหรือรับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะแสดงอาการออกมา คือ ทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจจะนำไปสู่สภาวะแห้งน้ำ คือ หนังเหี่ยว ตาลึก ลิ้น ปาก และคอแห้ง และมักจะมีไข้สูง
การดื่มน้ำไม่ใช่ว่าเราจะดื่มรวดเดียว 2 ลิตรนะครับ ต้องค่อย ๆ ดื่มเข้าไปเป็นระยะ ๆ ดื่มน้ำบ่อยครั้ง เพื่อช่วยรักษาความสดชื่นของร่างกายได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล  :https://www.scimath.org/article-biology/item/534-water28