ที่มา : คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา เด่นบริเวณศีรษะ ไรผม ข้อศอก ข้อเข่า และเล็บ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการอักเสบของระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น ข้ออักเสบ เพิ่มโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ “โรคสะเก็ดเงิน” ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อหรือแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้
โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังชนิดหนึ่งที่ร่างกายมีการหลั่งสารการอักเสบไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้มีการแบ่งตัวที่เร็วขึ้น และทำให้เกิดผื่น ผิวหนังอักเสบ หนาตัวขึ้น ซึ่งมีลักษณะได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือผู้ป่วยมักมีผื่นแดงนูนขอบชัดเจน ขุยหนา บางรายคลุมด้วยสะเก็ดหนาสีขาวเงิน เมื่อลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดใต้ผิวหนัง ผื่นมักจะเด่นบริเวณเข่า ข้อศอก หรือหนังศีรษะ มาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น รวมถึงมาศึกษาว่าโรค สะเก็ดเงิน รักษา ได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน
* พันธุกรรม
* การติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อสเตปโตคอคคัสในระบบทางเดินหายใจ
* ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
* ความเครียดรุนแรง
* ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า
* พักผ่อนไม่เพียงพอ
* ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
* การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์ การมีรอบเดือน
วิธีสังเกตอาการของโรคสะเก็ดเงิน
* มีผื่นแดงหนา
* สะเก็ดหนามีสีเงินบริเวณเข่า 2 ข้าง
* ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นที่ศีรษะ
* หากมีอาการรุนแรงอาจมีผมร่วง
* ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย
* ผื่นขึ้นตามปลายนิ้วมือ
* เล็บผิดปกติ เช่น เล็บร่อน เป็นหลุม หรือมีขุยใต้เล็บ
โรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
การรักษาโรคสะเก็ดเงินทางแพทย์จะมีการวางแผนระยะยาวเพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยจะเลือกวิธีการรักษาไปตามความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถแบ่งวิธีการรักษาได้ ดังนี้
* กรณีผู้ป่วยมีอาการผื่นผิวหนังเล็กน้อยถึงปานกลาง มีผื่นน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วร่างกาย อาจรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก เช่น ยาทาสเตียรอยด์ น้ำมันดิน แอนทราลิน อนุพันธ์ของวิตามินดี
* กรณีผู้ป่วยมีอาการผื่นปานกลางไปจนถึงมาก มีผื่นมากกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั่วร่างกาย หรือมีข้ออักเสบร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณารักษาดังนี้
* รับประทานยา เช่น Methotrexate แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่ช่วยในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังผิดปกติและกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
* การฉายแสงอาทิตย์เทียม โดยที่ใช้ในการรักษามี 2 ชนิด คือ ยูวีเอและยูวีบี ต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน แพทย์จะพิจารณาให้ฉายแสงอาทิตย์เทียมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตลดอาการอักเสบและยับยั้งการแบ่งตัวของผิวหนัง การเกิดซ้ำของโรค อาจมีการรักษาควบคู่กับการรับประทานยาหรือยาทาร่วมด้วย
* การรักษาด้วยยาฉีดกลุ่มชีววัตถุ (biologic agents) ใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามาตรฐาน หรือมีความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินอย่างมาก
คำแนะนำสำหรับโรคสะเก็ดเงิน
* รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไขมันสูง
* หลีกเลี่ยงการอดนอน งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
* หลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหาวิธีผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย พูดคุยกับคนรอบข้าง
* ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
* ระวังการแกะเกาบริเวณผื่นสะเก็ดเงิน เพราะจะทำให้อักเสบมากขึ้นและอาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้
* ดูแลผิว ทาครีมบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้น และทายาภายนอกเพื่อลดการอักเสบผิวหนังสม่ำเสมอ
* กรณีรับประทานยาหรือยาฉีด ควรปฏิบัติตามแพทย์ มารับการรักษาต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง และเมื่อเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีปฏิกิริยาต่อยารักษาสะเก็ดเงิน
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส
https://www.thaihealth.or.th/?p=371265