ภาวะแพ้อาหาร หรือ Food allergy สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราได้ทานสารอาหารบางชนิดเข้าไป แล้วไปทำให้ร่างกายมีการกระตุ้น สร้าง IgE (Immunoglobulin E) ต่อต้านต่ออาหารชนิดนั้น โดย IgE จะส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปล่อยสารฮีสตามีน ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆเกิดขึ้น
สำหรับอาการของการ แพ้อาหาร ที่พบบ่อยสุดคือ ผื่นลมพิษเฉียบพลัน ซึ่งจะมีผื่นเป็นผื่นแดง บวมนูน เป็นวง ตามลำตัว แขนขา มักเกิดขึ้นเร็วหลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไปเพียง 5-15 นาที ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชม. ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีตาบวมและหน้าบวมร่วมด้วย จนไปถึงแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่เร่งด่วนต้องรีบพบแพทย์โดยทันที อาการอื่นๆที่พบได้คือ คันในปาก คันริมฝีปาก คันตา หลังจากที่ทานอาหารที่แพ้เข้าไป สำหรับสิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิด ได้แก่
* เคยทานแล้วแพ้ มีผื่นลมพิษขึ้นไม่มาก แสดงว่ายังพอทานได้อยู่ ซึ่งเป็นเข้าใจที่ผิด ความจริงคือ อาการแพ้ไม่รุนแรงในรอบก่อน ไม่ได้ยืนยันว่า อนาคตจะไม่รุนแรงเสมอไป ซึ่งอาจจะแพ้รุนแรงขึ้นมาวันไหนก็ได้ ขึ้นกับภูมิของเรา ณ วันนั้นๆด้วย
* กินยาแก้แพ้ ก่อนกินอาหารที่แพ้ ซึ่งไม่ควรทำ เนื่องจาก ยาแก้แพ้อาจช่วยบดบังผื่น ไม่ให้เกิดผื่นได้ แต่ไม่ช่วยกรณีที่มีหลอมลมตีบ ความดันต่ำจากการแพ้อาหาร ดังนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตอาการแพ้ แล้วเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
* เมื่อก่อนเคยกินกุ้งได้ตลอด ไม่เคยมีปัญหา ทำไมเพิ่งมาแพ้กุ้งตอนวัยผู้ใหญ่ เป็นไปได้หรือ? ซึ่งความจริงคือเป็นไปได้ เราเรียกภาวะนี้ว่า Adult-onset food allergy ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหารชนิดนั้นๆ สักช่วงหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัว แล้วร่างกายค่อยๆสร้าง IgE ต่ออาหารชนิดนั้นขึ้นมา เมื่อกลับมาทานอีก เลยเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน ซึ่งอาจกลายเป็นแพ้รุนแรงขึ้นมาในอนาคตได้
* แพ้กุ้ง สามารถกินกั้ง ปู ได้? ความจริงคือ ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ควรเลี่ยง กุ้ง กั้ง ปู ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม ด้วย เนื่องจากอาหารพวกนี้มักมีโปรตีนที่คล้ายกัน สามารถแพ้ข้ามกันไปมาได้สูงถึง 75%
สำหรับการวินิจฉัยภาวะแพ้อาหารนั้น ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจทดสอบอื่นๆเพิ่มด้วย เช่น
1.การทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) เป็นการใช้น้ำยาโปรตีนสกัด มาหยดบนท้องแขนแล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังเพื่อทดสอบปฏิกิริยาภูมิแพ้
2.ทดสอบโดยการเจาะเลือดหา Specific IgE ของอาหารที่สงสัย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
อาหารที่มักเป็นสาเหตุของการแพ้ ของโรคภูมิแพ้อาหาร Food allergy
* ไข่
* นม
* ปลา
* ถั่วเหลือง
* แป้งสาลี และกลูเต็น
* ถั่วลิสง
* ถั่วตระกูล Tree nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เป็นต้น
* ผักและผลไม้ อาจเกิดอาการแพ้ที่ริมฝีปากและในลำคอ
* สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย หมึก
การรักษาและการปฏิบัติตัว
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ รวมไปถึงอาหารที่มีโอกาสแพ้ข้ามกันได้ กรณีที่มีผื่นอย่างเดียวโดยไม่มีอาการอื่นร่วมได้สามารถทานยาแก้แพ้หลังที่เกิดอาการได้ สำหรับรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ต้องพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และแนะนำให้พกยาสำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน Epinephrine ติดตัวร่วมด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต