ปัจจุบันผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพในระบบอวัยวะสืบพันธุ์มากขึ้น และพบตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงอายุมาก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ การเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกในรังไข่ และการเกิดเนื้องอกในมดลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้หญิงประสบปัญหาการมีประจำเดือนมาผิดปกติ มีเลือดออกเป็นลิ่ม และประจำเดือนมาเป็นระยะเวลานานร่วมกับอาการปวดท้องมากผิดปกติ รวมถึงผู้หญิงที่ยังไม่มีบุตรก็จะทำให้มีบุตรยาก
ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์ สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เนื้องอกในมดลูก เป็นความผิดปกติที่พบได้มากที่สุด สตรี 1 ใน 3 คน จะพบว่าเป็นเนื้องอกในมดลูก แต่ใช่ว่าเป็นเนื้องอกแล้วผู้ป่วยทุกรายจะต้องตัดมดลูกออก ถ้าหากเนื้องอกมีขนาดเล็ก และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาจไม่ต้องทำการผ่าตัด เพียงแต่เฝ้าติดตามดูอาการและนัดตรวจเป็นระยะ ๆ แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีผลกระทบทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ เลือดออกมาก จนทำให้ผู้ป่วยเกิดโลหิตจาง ซีด ขาดเลือด หรือเนื้องอกไปกดทับอวัยวะข้างเคียง ทำให้อวัยวะดังกล่าวที่อยู่ข้างเคียงทำงานผิดปกติ เช่น เนื้องอกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ แต่สำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตรสามารถเลือกที่จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกได้ และเก็บมดลูกส่วนที่ดีไว้เพื่อการตั้งครรภ์ โดยปัจจุบันการผ่าตัดมดลูกหรือก้อนเนื้องอก สามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องท้อง ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ผู้ป่วยจะได้รับการบาดเจ็บน้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องกว้าง 10-15 เซนติเมตร เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อย และใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยลงด้วย เพียง 2-3 วัน ผู้ป่วยก็สามารถกลับไม่ทำงานได้ตามปกติ แผลหลังจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นกังวลเรื่องรอยแผลหลังการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดส่องกล้องทางช่องท้องโดยทั่วไปจะเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง 3-4 ตำแหน่ง เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์การผ่าตัดเข้าไปในช่องท้องและทำการผ่าตัดมดลูกหรือเนื้องอก
เมื่อการผ่าตัดผ่านไปอย่างลุล่วง ผู้ป่วยควรดูแลตนเองในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ขึ้นลงบันไดอย่างช้า ๆ ไม่ยกของหนัก และงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 สัปดาห์แรก โดยผู้ป่วยที่ตัดมดลูกทั้งหมด จะไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถมีลูกได้อีก แต่หากไม่ได้ตัดรังไข่ไปด้วย รังไข่จะยังสามารถสร้างฮอร์โมนเพศและมีการตกไข่ทุกเดือน ร่างกายจะยังคงแข็งแรง ผิวพรรณสดใสเนื่องจากฮอร์โมนยังเป็นปกติ ความรู้สึกทางเพศโดยทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลง และการกลับไปทำงานสามารถทำงานเบา ๆ ได้ภายใน 3 – 4 วัน และสามารถออกกำลังกายได้หลังการผ่าตัด 1 เดือน