ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2593

เดนเวอร์--27 กรกฎาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ ข้อมูลใหม่ที่ได้รับการเผยแพร่ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564 หรือ Alzheimer's Association International Conference® (AAIC®) 2021 ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และถ่ายทอดผ่านทางออนไลน์ ระบุว่า แนวโน้มการเข้าถึงการศึกษามากขึ้นจะช่วยลดความชุกของโรคสมองเสื่อมทั่วโลกราว 6.2 ล้านเคส ภายในปี 2593 แต่ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกายสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะเพิ่มความชุกของโรคสมองเสื่อมในระดับใกล้เคียงกันที่ 6.8 ล้านเคส
            ผลวิเคราะห์ล่าสุดพบว่า ความชุกของโรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มลดลงเพราะการให้ความรู้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ
            คณะนักวิจัยจากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Institute for Health Metrics and Evaluation at the University of Washington School of Medicine) รายงานในการประชุม AAIC 2021 ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็นกว่า 152 ล้านคน ภายในปี 2593 โดยคาดว่าความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในภาคตะวันออกของภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง
          "วิถีชีวิตของผู้ใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วและอีกหลายภูมิภาคที่ดีขึ้น เช่น การเข้าถึงการศึกษามากขึ้น และการใส่ใจปัญหาสุขภาพหัวใจมากขึ้น ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมยังคงเพิ่มขึ้นเพราะประชากรสูงวัยขึ้น" คุณ Maria C. Carrillo, Ph.D. ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "นอกจากนี้ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และพฤติกรรมเนือยนิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม" สถาบันสูงวัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute on Aging) ประมาณการว่า ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป จะคิดเป็นสัดส่วน 16% ของประชากรโลกภายในปี 2593 เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2553
            นอกจากนี้ ในการประชุม AAIC 2021 ยังมีการรายงานผลการศึกษาความชุกของโรค/อุบัติการณ์ของโรค อีก 2 การศึกษา โดยผลการค้นพบสำคัญมีดังนี้
          - ในแต่ละปี ประชากร 10 คน จากทุก 100,000 คน เป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัย (ก่อนอายุ 65 ปี) ซึ่งหมายความว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก่อนวัยรายใหม่ราว 350,000 เคสต่อปีทั่วโลก
          - ระหว่างปี 2542-2562 อัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ในประชากรสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 16 คน เป็น 30 คน ต่อ 100,000 คน หรือพุ่งขึ้นถึง 88%
          - ในสหรัฐอเมริกา พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์สูงสุดในพื้นที่ชนบทของภูมิภาค East South-Central โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์อยู่ที่ 274 คน ต่อ 100,000 คน ในกลุ่มประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป
ความชุกของโรคสมองเสื่อมทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึงปี 2593
         เพื่อคาดการณ์ความชุกของโรคสมองเสื่อมทั่วโลกและประมาณการในระดับประเทศ คุณ Emma Nichols, MPH นักวิจัยจากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และทีมงานได้ใช้ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก หรือ Global Burden of Disease (GBD) ระหว่างปี 2542-2562 ซึ่งเป็นการคาดการณ์แนวโน้มสุขภาพอย่างครอบคลุมทั่วโลก และมีการปรับปรุงการคาดการณ์ในอดีตด้วยการรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมด้วย
          คุณ Nichols และทีมงานค้นพบว่า โรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นจากราว 57.4 (50.4 ถึง 65.1) ล้านเคสทั่วโลก ในปี 2562 เป็นราว 152.8 (130.8 ถึง 175.6) ล้านเคส ในปี 2593 โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภาคตะวันออกของภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังบ่งชี้ว่า เคสผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและสูงวัยขึ้น แต่ความสําคัญเชิงสัมพัทธ์ของ 2 ปัจจัยนี้ แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคทั่วโลก
          นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ความชุกของโรคสมองเสื่อมอันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกายสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยใช้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้กับความชุกของโรคสมองเสื่อม โดยพบว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านเคสทั่วโลก ในระหว่างปี 2562-2593 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ แต่ในทางตรงกันข้าม คณะนักวิจัยก็ค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับการศึกษาจะทำให้ความชุกของโรคสมองเสื่อมลดลง 6.2 ล้านเคสทั่วโลก ในระหว่างปี 2562-2593 ซึ่งแนวโน้มที่ตรงกันข้ามนี้เกือบหักล้างกันพอดี
         "การคาดการณ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในแต่ละภูมิภาค" คุณ Nichols กล่าว "จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการวิจัยเพื่อคิดค้นวิธีการรักษาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (disease-modifying treatment) รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม"
         คุณ Nichols และทีมงานเคยใช้ชุดข้อมูลในการคาดการณ์ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นราว 38.0% ในระหว่างปี 2533-2562 และชุดข้อมูลดังกล่าวเพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Alzheimer's & Dementia: The Journal of the Alzheimer's Association
         "หากปราศจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อหยุด ชะลอ หรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังผ่านพ้นปี 2593 ไปแล้ว ตลอดจนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล ระบบสาธารณสุข และรัฐบาลทั่วโลก" คุณ Carrillo กล่าว "นอกเหนือจากการรักษาโรคแล้ว เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากวิถีชีวิต เช่น การศึกษา การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย"
          การศึกษาในสหรัฐอเมริกาเพื่อปกป้องสุขภาพสมองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยง หรือ U.S. Study to Protect Brain Health Through Lifestyle Intervention to Reduce Risk (U.S. POINTER) ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ เป็นการทดลองทางคลินิกโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี เพื่อประเมินว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ สามารถปกป้องการทำงานของสมองในผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสมองเสื่อมถอยลงได้หรือไม่
          อุบัติการณ์ของโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอยู่ที่ราว 350,000 เคสต่อปี ทั่วโลกมีข้อมูลอย่างจำกัดเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมก่อนวัย ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 65 ปี ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคสมองเสื่อมก่อนวัย คุณ Stevie Hendriks, MSc นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ในเนเธอร์แลนด์ และทีมงาน ได้ทำการทบทวนงานวิจัยทั้งหมดที่เผยแพร่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 65 ปี
           คุณ Hendriks และทีมงานค้นพบว่า ในแต่ละปีอุบัติการณ์ของโรคสมองเสื่อมก่อนวัยทั่วโลกเกิดขึ้น 10 คน ต่อ 100,000 คน นอกจากนั้น ยังพบว่าอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งหมายความว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก่อนวัยรายใหม่ราว 350,000 เคสต่อปีทั่วโลก โดยอุบัติการณ์ของโรคในผู้ชายและผู้หญิงมีเท่ากัน และพบสูงสุด คือ โรคอัลไซเมอร์ ตามมาด้วยโรคสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด (vascular dementia) และโรคสมองเสื่อมส่วนหน้า (frontotemporal dementia)
             "การค้นพบของเราน่าจะก่อให้เกิดความตระหนักในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย เพราะแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโรคสมองเสื่อมก่อนวัย" คุณ Hendriks กล่าว "ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องลงทุนด้านการดูแลรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ และจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้การสนับสนุนที่ดีที่สุด รวมถึงป้องกันและรักษาโรคสมองเสื่อมก่อนวัย" "ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในเรื่องของการวินิจฉัยโรค ครอบครัว การทำงาน การเงิน การดูแลในอนาคต และทางเลือกในการรักษา แต่ก็มีการสนับสนุนและข้อมูลคอยรองรับอยู่แล้ว" คุณ Kristen Clifford ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายโปรแกรมของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "ผู้ป่วยมีอำนาจในการวางแผนชีวิตใหม่และเลือกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคอย่างดีที่สุด"

พื้นที่ชนบทของสหรัฐอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ในระดับสูง
            แม้ว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตของคนในเมืองและคนในชนบทกลับมีความไม่สอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านสุขภาพของคนในชนบทและคนในเมือง ซึ่งรวมถึงสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ระดับของโรคเรื้อรังที่สูงกว่า การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตอย่างจำกัด และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่า ซึ่งรวมถึงบริการปฐมภูมิ
            เพื่อทำความเข้าใจความแปรผันทางภูมิศาสตร์ของการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ คุณ Ambar Kulshreshtha, MD, Ph.D. จากมหาวิทยาลัยเอมอรี และทีมงาน ได้ใช้ข้อมูลจากศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติ (National Center for Health Statistics) เพื่อสำรวจแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ระหว่างปี 2542-2562
           คุณ Kulshreshtha และทีมงานค้นพบว่า ระหว่างปี 2542-2562 อัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ในประชากรสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 16 คน เป็น 30 คน ต่อ 100,000 คน หรือพุ่งขึ้นถึง 88% โดยพื้นที่ชนบททั่วประเทศมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์สูงกว่าเมื่อเทียบกับในเมือง และสูงสุดในพื้นที่ชนบทของภูมิภาค East South-Central ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์อยู่ที่ 274 คน ต่อ 100,000 คน ในกลุ่มประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับในเขตเมืองของภูมิภาค Mid-Atlantic ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด
             "เราพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ในเมืองและในชนบทมีความแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันหรือเป็นผลพวงมาจากความแตกต่างด้านสุขภาพของคนในชนบทและคนในเมือง ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและบริการสุขภาพอื่น ๆ ตลอดจนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ระยะเวลาก่อนได้รับการวินิจฉัยโรค และสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่" คุณ Kulshreshtha กล่าว "การระบุและทำความเข้าใจเหตุผลของความแตกต่างด้านสุขภาพมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดสรรทรัพยากรทางสังคมและสาธารณสุขอย่างเหมาะสม"
การศึกษานี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากสมาคมโรคอัลไซเมอร์เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
          การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง - โฮมเพจของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/ - ห้องข่าวของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์
          สมาคมโรคอัลไซเมอร์มีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทร. สายด่วน 800.272.3900 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด

อ้างอิง :
- Emma Nichols, MPH, et al. The estimation of the global prevalence of dementia from 1990-2019 and forecasted prevalence through 2050: An analysis for the Global Burden of Disease (GBD) study 2019. (Funder(s): Gates Ventures)
- Stevie Hendriks, MSc, et al. The incidence of young onset dementia: a systematic review and meta-analysis. (Funder(s): Alzheimer Nederland; Gieskes-Strijbis Foundation; Dutch Knowledge Center on Young-Onset Dementia)
- Ambar Kulshreshtha, MD, PhD, Alzheimer's Disease Mortality High in Rural Areas in South: 1999-2019. (Funder(s): Alzheimer's Association)