มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ชูเทคโนโลยี 5 นวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการทำงาน จัดเตรียม ส่งต่อเลือดไปยังผู้ป่วยและจัดการสต๊อกอย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.นพ.คณุตม์ จารุธรรมโสภณ หัวหน้าหน่วยคลังเลือด และเวชศาสตร์บริการโลหิต สาขาวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หน่วยงานธนาคารเลือด เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของสาขาวิชาพยาธิวิทยา ร.พ. สงขลานครินทร์ โดยมีหน้าที่รับบริจาคเลือดทั้งจากในและนอกโรงพยาบาล นำมาเตรียมส่วนประกอบเลือดชนิดต่าง ๆ โดยทำการตรวคัดกรองและทดสอบความเข้ากันได้กับผู้ป่วย ตามมาตรฐานของสภากาชาดไทย เพื่อให้แพทย์สามารถใช้ในการรักษาคนไข้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันด้วยปริมาณคนไข้ที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการในการใช้บริการของงานธนาคารเลือดเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้เกิดปัญหาในการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์เลือดที่อาจเกิดความล่าช้าในการเตรียม หรือจัดการงานที่มีปริมาณมากอาจส่งผลต่อคุณภาพในการนำเลือดไปใช้ นอกจากนี้ ยังมีการเกิดภาวะขาดแคลนเลือดในการรับบริจาค หรือไม่สามารถหาเลือดชนิดที่หายากมาให้ได้ ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วยทำให้ต้องรอเลือดเป็นเวลานาน หรือบางกรณีอาจเกิดภาวะเลือดล้นทำให้ไม่สามารถใช้เลือดได้ทันวันหมดอายุ จึงมีความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์เลือดและจัดการสต๊อก
“เรามีการพัฒนาตั้งแต่ การจัดหาเลือด การคัดกรองเลือด ขั้นตอนการเตรียมเลือด และขั้นตอนการนำเลือดไปใช้กับผู้ป่วย โดยมีการใช้นวัตกรรม ดังนี้ 1. โปรแกรมเก็บข้อมูล Minor blood group 2. ระบบห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ (Total Lab Automation) ในการตรวจคัดกรองโรคติดชื้อของเลือด ทั้งงานการตรวจภูมิคุ้มกันและแอนติเจนในเลือด (serology) และการตรวจสารพันธุกรรมของตัวเชื้อไวรัส (NAT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพและความปลอดภัยในการเตรียมเลือด พร้อมทั้งลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ 3. กระติกขนส่งเลือดอัจฉริยะเพื่อการควบคุณคุณภาพของผลิตภัณฑ์เลือดขณะขนส่งให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย 4. การทำนายการใช้เกล็ดเลือดโดย Machine Learning 5. การจัดการสต็อกโดยระบบ AI” ผศ.นพ.คณุตม์ กล่าว
ด้าน นายวรากร เพชรเกลี้ยง หัวหน้างานคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต สาขาวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น โปรแกรมเก็บข้อมูล Minor blood group ระบบหมู่เลือดรอง ซึ่งต้องใช้น้ำยาพิเศษในการตรวจ บางชนิดแพงมากและเพิ่มขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเดิมหลายโรงพยาบาลต้องขอจากสภากาชาดไทย แต่สำหรับหน่วยคลังเลือด ร.พ สงขลานครินทร์มีการตรวจหมู่เลือดรองที่สำคัญให้กับผู้บริจาคประจำตั้งแต่ 10 ครั้งขึ้นไป โดยเก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้บริจาคมาบริจาคในคร้ังถัดไปสามารถทราบหมู่เลือดรองได้ทันที ทำให้มีเลือดเพียงพอให้ผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลได้
“ระบบสืบค้นหมู่เลือดรองที่ทางหน่วยจัดทำขึ้นสามารถแบ่งปันให้โรงพยาบาลอื่นมาใช้แพลตฟอร์มเดียวกันได้ เพื่อใช้สืบค้นหมู่เลือดรองของผู้บริจาคโดยที่ไม่ต้องตรวจซ้ำ ลดระยะเวลาการรอคอยในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับหมู่เลือดพิเศษ ช่วยลดค่าใช้จ่าย และขั้นตอนในการทดสอบซ้ำได้ มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วยระบบล็อกอินที่เข้าถึงได้เฉพาะเจ้าหน้าที่คลังเลือดและผู้บริจาครายนั้น เพื่อตรวจสอบข้อมูลตนเองเท่านั้น จึงอยากเชิญชวนหน่วยคลังเลือดอื่น ๆ มาร่วมกันแชร์ข้อมูลระบบหมู่เลือดรองในแพลตฟอร์มเดียวกันเพื่อขยายฐานข้อมูลผู้บริจาคในเขต ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลผู้บริจาคอยู่ประมาณ 30,000 ราย และมีโรงพยาบาลข้างเคียงมาร่วมใช้โปรแกรมนี้แล้ว
นอกจากนั้น ยังมีการนำระบบ Machine learning ทำนายการใช้เกล็ดเลือด เพื่อประมวลผลข้อมูลการใช้เกล็ดเลือดในอดีตมาวางแผนและดูแนวโน้มการใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากเกล็ดเลือดมีอายุเพียงแค่ 5 วัน เท่านั้น ที่ผ่านมาจึงต้องทิ้งเกล็ดเลือดที่หมดอายุเป็นจำนวนมาก ระบบ Machine learning จึงเป็นประโยชน์มากในการช่วยวิเคราะห์ ทำให้สามารถสำรองเกล็ดเลือดได้เหมาะสมกับการใช้จริง และยังช่วยลดต้นทุนจากการทิ้งลงได้กว่า 50 %” นายวรากร อธิบาย
สำหรับนวัตกรรมกระติกขนส่งเลือดอัจฉริยะ ยังถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการควบคุมการขนส่งเลือด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิที่มีขายอยู่ในตลาดไม่ตอบโจทย์การควบคุมคุณภาพตามที่หน่วยงานต้องการ จึงพัฒนากระติกขนส่งเลือดอัจฉริยะขึ้นมาเอง ซึ่งนอกจากจะควบคุมอุณภูมิได้แล้ว ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลังโดยแสดงเป็นกราฟ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาได้ง่ายว่าอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่กำหนดหรือไม่ และพิจารณารับเลือดที่ขนส่งอยู่ในอุณภูมิที่กำหนดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดที่เก็บในอุณหภูมิไม่เหมาะสม และยังสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Wi-Fi ได้ ทำให้สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะของกระติกทั้งหมดได้ จนได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ เหรียญทองแดง จาก Thailand Kaizen award ปี 2563 และรางวัลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ระดับเหรียญทอง จากงานเวทีคุณภาพ ภายใต้โครงการ “เรื่องของเลือด ขาดเหลือ ต้องเกื้อกูล” และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังได้ไปนำเสนอในงานประชุม Thailand Quality Conference ปี 2564 อีกด้วย
ด้าน ทนพญ. สุวิมล บุญทองขาว นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ หน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต สาขาวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “สำหรับระบบห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ หรือ Total lab automation ช่วยแก้ปัญหาในการลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ตั้งแต่ขั้นตอน การเตรียมตัวอย่าง และการแบ่งสิ่งส่งตรวจ (Aliquot) เพื่อการตรวจสอบภายหลัง โดยเครื่องจะเตรียมตัวอย่างและเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องตรวจวิเคราะห์ ทั้งการตรวจภูมิคุ้มกันและแอนติเจนในเลือด (serology) และการตรวจสารพันธุกรรมของตัวเชื้อไวรัส (NAT) เข้าด้วยกัน เป็นระบบเดียว รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบ LIS ของโรงพยาบาล เพื่อลดการทำงานแบบ manual และ human error ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
“จากเดิมการตรวจคัดกรองเลือดเคยใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน ก็สามารถลดเหลือ1คน ทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยลดการสัมผัสกับสิ่งส่งตรวจอีกทั้งการทำงานด้วย automation จะช่วยบันทึกการทำงานทุกขั้นตอน เพื่อประโยชน์ในการทวนสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการทำงานตาม LEAN concept ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพของผลตรวจวิเคราะห์จากระบบการทำงานของเครื่องตรวจ เช่น การใช้ tip แบบใช้ครั้งเดียวในการดูดตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากการรายงานผลผิดพลาดที่เกิดจากปัญหาของสิ่งส่งตรวจที่ติดเชื้อ (sample contaminations) ใช้ระยะเวลาในการตรวจภูมิคุ้มกันและแอนติเจนในเลือด (serology) 18 นาที และความเร็วของเครื่องตรวจสารพันธุกรรมของตัวเชื้อไวรัส (NAT) ที่สามารถรองรับงานได้ 1,440 ตัวอย่างต่อวัน ทำให้ระยะเวลาในการรายงานผลของห้องปฏิบัติการสั้นลง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้แล้วเสร็จตามเวลาและสามารถแบ่งเวลาไปดูแลงานด้านคุณภาพและอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม” ทนพญ. สุวิมล กล่าวปิดท้าย
ขอขอบคุณข้อมูล : https://www.hfocus.org › content › 2022/03