Google วิจัยร่วมกับไทย สร้าง AI ตรวจเบาหวานขึ้นตาด้วยกล้อง พร้อม AI สุขภาพอีกหลายตัว

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทีมจาก Google ได้ช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมทางด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งล่าสุดในอีเวนต์ The Check Up ทาง Google ก็ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ ดังนี้
กล้องสมาร์ตโฟนที่ตรวจสอบเบาหวาน สุขภาพหัวใจ รวมถึงการตรวจสอบปัญหาทางด้านสายตา
          โปรเจกต์ ARDA (Automated Retinal Disease Assesment) หรือ อาร์ดา เป็นหนึ่งในโครงการ AI ด้านสุขภาพแรก ๆ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา
          จากการตรวจสอบผู้ป่วย 350 ราย ทุกวัน จนมีจำนวนสะสมในปัจจุบันกว่า 100,000 ราย ล่าสุดทางทีมก็ประสบความสำเร็จในการศึกษางานวิจัยภายใต้โปรแกรมการตรวจสอบผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นตาของโรงพยาบาลราชวิถี ประเทศไทย และสามารถพัฒนา AI ที่ตรวจจับผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาได้แม่นยำถึง 94.7%`
          ไม่เพียงแต่ AI จะตรวจจับโรคเบาหวานขึ้นตาแล้ว ยังพบว่าภาพถ่ายของดวงตาสามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อหลอดเลือดและหัวใจ เช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด รวมถึงระดับคอเลสเตอรอล เป็นต้น
           ในอนาคตทางทีมคาดหวังว่า งานวิจัยดังกล่าวจะถูกนำมาปรับใช้กับกล้องสมาร์ตโฟนเพื่อช่วยตรวจหาโรคเบาหวาน หรือโรคอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้นแม้ในขณะอยู่บ้านตัวเอง

ใช้ AI บันทึกเสียงหัวใจด้วยสมาร์ตโฟนและประเมินความเสี่ยง
          ที่ผ่านมาสมาร์ตโฟนหลากหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หรือ iOS ก็เริ่มที่จะวัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจหรืออัตราการหายใจได้ผ่านกล้องสมาร์ตโฟน แต่ล่าสุด Google ได้ทำการวิจัยเพื่อให้สามารถบันทึกเสียงหัวใจเต้นได้เพียงแค่นำมาถือมาแนบหน้าอก
          วิธีการดังกล่าวคล้ายกับการที่แพทย์ใช้อุปกรณ์ตรวจฟังเสียง (Stethoscope) ในการฟังเสียงเสียงหัวใจและปอดของคนไข้ เพื่อหาความผิดปกติ โดยงานวิจัยล่าสุดของ Google เป็นการพยายามศึกษาว่า เราจะสามารถใช้สมาร์ตโฟนตรวจจับการเต้นของหัวใจและประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ได้หรือไม่ โดยตอนนี้การวิจัยยังอยู่ในขั้นการศึกษาทางคลินิก

การร่วมมือกับ Northwestern Medicine เพื่อใช้ AI ช่วยเหลือด้านสุขภาพมารดา
          Ultrasound เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพหรือวิดีโอแบบเรียลไทม์ของอวัยวะภายในหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น หลอดเลือดและทารกในครรภ์ แต่เนื่องจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการอ่าน Ultrasound รวมถึงปัญหาที่ประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำนั้นเข้าถึงการ Ultrasound ได้ยาก จึงทำให้ Google อยากที่จะพัฒนา AI ที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้
          ในตอนนี้ Google จึงได้เปิดเผยงานวิจัยที่ใช้ AI เพื่อช่วยการ Ultrasound และการประเมินผล โดยร่วมมือกับ Northwestern Medicine เพื่อพัฒนาและทดสอบโมเดลที่จะสามารถประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์โดยอัตโนมัติได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูล   :  https://www.beartai.com › brief › sci-news