ธรรมศาสตร์ ฟื้นฟูตำรายาโบราณ 300 ปี ถอดรหัส 4 ตำรับ ‘พระโอสถพระนารายณ์’ ยกเครื่องให้ทันสมัย-ใช้ได้จริง

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยตำรายา ‘พระโอสถพระนารายณ์’ ถอดรหัส-ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เบื้องต้นสำเร็จแล้ว 4 ตำรับ
          รศ.โรจน์ คุณอเนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ในฐานะผู้ริเริ่มการศึกษา “ตำราโอสถพระนารายณ์” เปิดเผยว่า จากการศึกษาคัมภีร์ใบลานด้านการแพทย์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ตกทอดกันมาถึงปัจจุบัน ที่รู้จักกันในชื่อของ “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ซึ่งมีอายุกว่า 300 ปี ของ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ตำรับยาเหล่านั้นมีสรรพคุณที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก
          อย่างไรก็ตาม ด้วยเป็นตำรับยาโบราณจึงทำให้คนในปัจจุบันอาจมีความเข้าใจผิดหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาและค้นคว้าสอบถามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยด้านสมุนไพรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งหวังที่จะฟื้นฟูยาตามตำราพระโอสถพระนารายณ์ที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย และเป็นปัจจุบัน
          รศ.โรจน์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถฟื้นฟูตำราพระโอสถพระนารายณ์ได้แล้ว 4 ตำรับ ได้แก่ ยาทาพระเส้น พระอังคบพระเส้นตึงให้หย่อน น้ำมันมหาจักร และยาหอมดุม พร้อมกันนี้ สถาบันไทยคดีศึกษายังได้จัดพิมพ์หนังสือ “สืบสานภูมิปัญญา ตำราโอสถพระนารายณ์” ที่แสดงถึงรายละเอียดของการประกอบยาทั้ง 4 ตำรับดังกล่าวให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย
          รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสรรพคุณของยาทั้ง 4 ตำรับ ได้แก่
          1. ยาทาพระเส้น ซึ่งใช้สำหรับทาแก้เส้นผิดปกติ แก้ลมอัมพาต แก้ลมปัตฆาฏ แก้ตะคริว แก้เส้นจับโปง หรืออาการปวดบวมแดงร้อนที่ข้อเข่าและข้อเท้า แก้เมื่อยขบ
          2. พระอังคบพระเส้นตึงให้หย่อน ซึ่งเป็นลูกประคบมีสรรพคุณใช้ประคบเส้นที่ตึงให้หย่อนหรือผ่อนคลายลง ใช้ประคบให้คลายเครียดและหลับสบาย
          3. น้ำมันมหาจักร ซึ่งมีสรรพคุณจากคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องยาแต่ละชนิด จึงอนุมานได้ว่า น้ำมันมหาจักรน่าจะมีประสิทธิผลในการลดอาการปวดเมื่อยได้จากฤทธิ์ของยาในการลดอาการอักเสบ และยังสามารถรักษาแผลจากฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ลดการอักเสบ เร่งการหายของแผล
          4. ยาหอมดุม บรรเทาอาการไข้ ร่วมกับกระหายน้ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บตามข้อซึ่งเป็นอาการของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
          ผศ.ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2514 ในชื่อ "โครงการไทยคดีศึกษา" มีวัตถุประสงค์เมื่อแรกตั้งคือ เพื่อส่งเสริมการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อส่งเสริมการเรียบเรียงตำราที่เกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสังคมไทยที่จะไปทำการค้นคว้าและสอน และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยแก่ประชาชนทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 โครงการไทยคดีศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "สถาบันไทยคดีศึกษา" มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา ทำหน้าที่เป็นสถาบันเพื่อการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการยกระดับมาจนถึงปัจจุบัน ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการสร้างงานวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสนับสนุนการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
 
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://tu.ac.th › thammasat-040465-medicine-textbook..