วิกฤตจากภาวะ "โลกร้อน" ปัจจัยก่อให้เกิดไวรัสใหม่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค  ได้โพสต์ข้อมูลจากทีมนักวิจัยจากจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ที่เผยแพร่ผลการค้นพบในวารสารการแพทย์ นิว อิงแลนด์ ในเดือนนี้  ในการพบไวรัสตัวใหม่ เรียกว่า หลางหยา เฮนิพาไวรัส (Langya henipavirus) หรือ เลย์วี LayV ตรวจพบในหนูผี สัตว์กินแมลงและเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ค้นพบโดยนักวิจัยคนหนึ่ง ที่ศึกษาวิจัยไวรัสเลย์วี  ซึ่งพบในคนครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018
          ผลการสืบสวนโรคขั้นต้น พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส เลย์วี 35 คน ในมณฑลชานตงและเหอหนาน ภาคตะวันออกของจีน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงมาก ๆ กับไวรัสที่แยกได้จากหนูผีถึงร้อยละ 27 จึงสันนิษฐานว่า หนูผีอาจเป็นพาหะหรือแหล่งเพาะเชื้อตามธรรมชาติของไวรัสเลย์วี แม้ยังตรวจพบเชื้อในสุนัขด้วยร้อยละ 5 และในแพะอีกร้อยละ 2  ทำให้เชื่อว่า หนูผีน่าจะเป็นสัตว์ตัวกลางที่แพร่เชื้อดังกล่าวมาให้คน  แต่ตอนนี้ยังไม่พบหลักฐานแพร่ระบาดในกลุ่มคนด้วยกัน โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อต่างไม่มีอาการรุนแรง หรือสาหัส รวมถึงยังไม่มีผู้เสียชีวิต จึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ซึ่งบางคนอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย บางรายอาจมีการทำงานของตับและไตลดลง  แต่ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะยังไม่มีวัคซีนรักษา อีกทั้งไวรัสที่มีอยู่ในธรรมชาติจำนวนมาก มักก่อผลที่คาดการณ์ไม่ได้เมื่อเกิดการติดเชื้อในมนุษย์
          ไวรัสเลย์วี อยู่ในกลุ่มไวรัสที่ติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน หรือเฮนิพาไวรัส หรือซูโนติซ ดิซีส ซึ่งแม้เป็นกลุ่มไวรัสที่พบได้ทั่วไป แต่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไวรัสกลุ่มซูโนติซ ดิซีส บางตัว ทำให้ผู้ติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมทั้งไวรัสนิปาห์ ที่มีค้างคาวผลไม้เป็นพาหะ ซึ่งมีอัตราการตาย 40% ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ พบระบาดในสัตว์และคนในเอเชีย และไวรัสเฮนดราที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบเชื้อครั้งแรกในม้าในออสเตรเลีย แต่ความรุนแรงดังกล่าวทำให้การแพร่อยู่ในวงจำกัดเนื่องจากโฮสต์เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
          ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน แถลงกำลังให้ความสนใจเกาะติดพัฒนาการของไวรัสเลย์วีด้วย แต่ไม่แถลงรายละเอียดอื่น ๆ
          ทั้งนี้ ไวรัสที่ปรากฏและต้องเฝ้าจับตาในปี 2022 ได้แก่  
          1. ไข้หวัดนก  
          2. ไวรัสโคโรนา รวมทั้งโควิด-19 , ซาร์ส , เมอร์ส   
          3. ไวรัสฝีดาษลิง  
          4. ไวรัสมาร์เบิร์ก
          5. ไวรัสอีโบลา
          6. ไวรัสนิปาห์
          7. ไวรัสเวสต์ไนล์  
          8. โรคตับอักเสบในเด็กที่น่าจะเกิดจากไวรัสเช่นกัน
          9.ไวรัสโปลิโอ ซึ่งสหรัฐฯ กลับมาพบผู้ป่วยโปลิโอรายแรกในรัฐนิวยอร์ก ในรอบเกือบ 10 ปี
          10. ไวรัสน้องใหม่ เลย์วี LayV
          ปัจจุบันยังมี 3 โรค ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงประกาศสถานะภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ได้แก่
          1.โรคฝีดาษลิง ประกาศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  2022
          2. โรคโปลิโอ ได้รับการประกาศในปี 2557 ซึ่ง WHO ยังมุ่งมั่นให้โรคหมดไปจากโลกนี้  และโรคโควิด-19 ซึ่งประกาศเมื่อปี 2563
          ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้เคยประกาศให้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในช่วงปี 2552-2553 , โรคอีโบลาในช่วงปี 2557-2559 และระหว่างปี 2562-2563 และไวรัสซิกาได้รับการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในปี 2559

          ด้านนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า จากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จะผลักดันสัตว์หลายชนิดไปสู่สถานที่ใหม่ จะนำปรสิตและเชื้อโรคติดตัวไปด้วย และจะเพิ่มความเสี่ยงที่โรคติดต่ออุบัติใหม่จะกระโดดจากสัตว์สู่คนในอีก 50 ปีข้างหน้า  เช่น ค้างคาวที่เป็นพาหะไวรัส  ที่ย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ในโลกที่ร้อนขึ้น เกิดการแพร่กระจายของไวรัสระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 15,000  สปีชีส์ บางสายพันธุ์จะเริ่มสัมผัสกันเป็นครั้งแรก แต่อันตรายจะรุนแรงที่สุดในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะแอฟริกาเขตร้อนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          ดังนั้น หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นและกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนมีส่วนทำให้ไวรัสปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้รุนแรงขึ้น
 
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  : https://news.trueid.net/detail/BaLnywJkGy7M