ยุงเป็นพาหะนำโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก และมาลาเรีย ที่ประเทศเขตร้อนชื้นล้วนคุ้นเคย แต่ไวรัสเวสต์ไนล์ ซึ่งเป็นโรคที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และออสเตรเลีย ก่อนจะเริ่มระบาดไปยังยุโรปและอเมริกาเหนือ อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก แต่ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนี้หลายราย
ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อนี้ แต่โชคดีที่ผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย โดยมีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อเท่านั้นที่จะแสดงอาการ และมีผู้ติดเชื้อเพียง 1 ใน 150 เท่านั้นที่จะป่วยหนัก หรือเสียชีวิต และสิ่งเดียวที่จะป้องกันเราจากไวรัสได้ก็คือ การใช้สเปรย์ไล่ยุงและสวมเสื้อผ้าแขนยาวเพื่อป้องกันยุงกัด
ปีนี้ระบาดหนักแค่ไหน
ที่อิตาลี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 94 ราย โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 52 ราย ภายในสัปดาห์เดียว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสก็เพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 7 ราย เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยผู้เสียชีวิต 5 ราย อยู่ในแคว้นเวเนโต อีกรายอยู่ในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา และอีก 1 ราย อยู่ในแคว้นปิเอมอนเต
ผู้ติดเชื้อในอิตาลีส่วนใหญ่กระจุกอยู่ทางตอนเหนือ โดยเมืองปาโดวาในแคว้นเวเนโตเป็นจุดแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสในอิตาลี แม้ว่าทางตอนใต้อากาศร้อนและชื้นมากกว่าทางเหนือก็ตาม แต่ที่ราบลุ่มเวเนโต ซึ่งมีแหล่งอยู่อาศัยตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ที่สมบูรณ์แบบของยุง ขณะที่นักกีฏวิทยาระบุว่า ในปีนี้พบว่ายุงในพื้นที่มีเพิ่มขึ้น 27% จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ Corriere ของอิตาลี
ส่วนในสหรัฐฯ ไวรัสเวสต์ไนล์ เป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะที่พบได้ทั่วไปมากที่สุดของประเทศ ขณะนี้พบยุงหรือผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในพื้นที่อย่างน้อย 21 รัฐ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจากข้อมูลของ CDC ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดสูงสุดยังมาไม่ถึง
ยุงชนิดไหนที่เป็นพาหะไวรัสเวสต์ไนล์
ไม่ใช่ยุงทุกชนิดที่จะเป็นพาหะของไวรัสเวสต์ไนล์ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ยุงสายพันธุ์ Culex เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาด แต่ข่าวร้าย คือ ยุงชนิดนี้ไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นนัก
ยุงสายพันธุ์ Culex มีขนาด 4-10 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาล และไม่มีลายเป็นเอกลักษณ์อะไรบนตัว แต่ปากของยุงชนิดนี้ต่างจากยุงในยุโรปทั่วไป ส่วนขาของยุงชนิดนี้ยังไม่มีลายวงแหวนสีซีดและสีเข้ม และหน้าท้องยังคงโค้งมนแทนที่จะแบน อย่างไรก็ตาม ถ้ายุงกำลังจะกัดเรา เราคงไม่มีเวลาไปสังเกตลายบนตัวยุง แต่หากคุณวุ่นวายอยู่กับการสังเกตยุง คุณก็คงถูกกัดและเชื้อไวรัสก็เข้าสู่ร่างกายไปแล้ว
อาการของโรค
หากคุณถูกกัดและได้รับเชื้อไวรัส หากร่างกายแสดงอาการก็จะแสดงอาการภายใน 2-14 วัน โดยอาการของโรคจะคล้ายกับการเป็นไข้หวัดทั่วไป เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดร่างกายและท้องร่วง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อในสมองและเยื่อบุสมอง ซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.tnnthailand.com/news/world/121501/
เรื่อง : ณัฐณิชา นิจผล,
ภาพ: Reuters