การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่าง ๆ อย่างหนัก ในช่วงเทศกาลรื่นเริง นอกจากจะทิ้งอาการปวดศีรษะเพราะเมาค้างไว้ให้ในวันต่อมาแล้ว ยังส่งผลบั่นทอนสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
พิษจากแอลกอฮอล์และสารตกค้างที่ร่างกายกำจัดออกไปไม่ทัน ทำให้เกิดการระคายเคืองจนลำไส้อักเสบ นำไปสู่โรคไขมันพอกตับ ตับแข็ง มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยการดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 5% ในหมู่ประชากรโลกในแต่ละปี
ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) จึงลงมือศึกษาค้นคว้าถึงวิธีการสลายพิษและลดปริมาณตกค้างของแอลกอฮอล์ในร่างกายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังการบริโภคเกินขนาดในงานเลี้ยงหรือตามเทศกาลต่าง ๆ
วิธีการที่พวกเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การดัดแปลงพันธุกรรมเชื้อแบคทีเรียโพรไบโอติก (probiotic) หรือจุลินทรีย์ชนิดดีบางตัวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ เพื่อให้มันสามารถผลิตเอนไซม์พิเศษที่ย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้ดีขึ้นและมากขึ้น เมื่อเทียบกับเอนไซม์ชนิดดั้งเดิมที่มีอยู่ในร่างกายของคนเราตามธรรมชาติ
รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Microbiology Spectrum ระบุว่า ตามปกติแล้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเอทานอลจะถูกย่อยสลายที่ตับ โดยเอนไซม์ชื่อว่า แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (ADH) จะเปลี่ยนเอทานอลให้เป็นอะซีทัลดีไฮด์ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม หากดื่มหนักเกินไป กระบวนการข้างต้นจะไม่สามารถขจัดเอทานอลและสารตกค้างอื่น ๆ ได้หมด ทำให้ทีมผู้วิจัยคิดจะใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติก สายพันธุ์แล็กโตค็อกคัส แล็กติส (Lactococcus lactis) ซึ่งเดิมใช้ในการผลิตบัตเตอร์มิลค์และชีส มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มันผลิตเอนไซม์ ADH1B ซึ่งย่อยสลายเอทานอลได้เร็วกว่าเอนไซม์ ADH มาก
เอนไซม์ ADH1B นั้น มีอยู่ในคนเชื้อสายเอเชียตะวันออกและชาวพอลีนีเซียน (Polynesian) จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อถูกผลิตขึ้นโดยเชื้อโพรไบโอติกที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ทีมผู้วิจัยพบว่าการกินโพรไบโอติกชนิดดังกล่าว ช่วยให้หนูทดลองที่เมามายจากพิษสุราสร่างเมาเร็วขึ้น เนื่องจากเอทานอลส่วนใหญ่ถูกย่อยสลายไปก่อนที่ลำไส้ จึงไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและไปถึงตับมากนัก
นอกจากนี้ หนูทดลองที่ได้รับโพรไบโอติกชนิดพิเศษ ยังมีสัญญาณของภาวะตับถูกทำลายและลำไส้อักเสบน้อยกว่าอีกกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดด้วย ทำให้มีความหวังว่าโพรไบโอติกชนิดใหม่นี้อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่ไม่สามารถลด ละ เลิกการดื่มสุราได้
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยบอกว่ายังคงต้องมีการทดลองเพิ่มเติมในมนุษย์หลังจากนี้ เพื่อดูว่าปัจจัยแวดล้อมอย่างเพศ วัย น้ำหนัก อาหารที่กินเป็นประจำ รวมทั้งการออกกำลังกายของแต่ละคน ส่งผลต่อการดูดซึมและย่อยสลายแอลกอฮอล์ต่างกันหรือไม่ เพราะอาจกระทบต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกชนิดใหม่ได้
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/cqlenwle99go