ยารักษาโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย

อ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://i.insider.com/5649fdb7112314ef03...&auto=webp


ผู้อ่านเคยเป็นหรือเคยเห็นคนใกล้ชิดเป็นแบบนี้กันบ้างไหม? บางช่วงที่ต้องใส่ถุงเท้าและรองเท้าทำงานนาน ๆ และมีเหงื่อออกที่เท้ามาก ๆ หลายวันติดต่อกัน จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีกลิ่นเท้าเหม็น ทั้ง ๆ ที่เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน และเมื่อสังเกตที่ฝ่าเท้าพบว่ามีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ หรือถลอกเป็นปื้น ๆ ร่วมกับอาการกลิ่นเหม็นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนคิดว่าตัวเองเป็นโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา จึงหาซื้อยาฆ่าเชื้อรามาทา แต่ก็ไม่หาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า อาการเท้าเหม็นที่ว่ามานั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อรา แต่เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งบางครั้งเรียกโรคนี้ว่า “โรคเท้าเป็นรู” หรือ “โรคเท้าเหม็นเป็นรู”ในบทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร และมียาอะไรบ้างที่ใช้ในการรักษา


โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้อย่างไร
โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “pitted keratolysis (พิต-เต็ด-เคอร์-รา-โท-ไล-สิส)” ตามลักษณะอาการที่พบ นั่นคือ ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าเป็นรู (pitted = รู หรือ หลุม) เนื่องจากมีการหลุดลอกของผิวหนังชั้นบน (keratolysis = การสลายของผิวหนังชั้นบน) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก โดยเฉพาะกลุ่ม Corynebacterium spp. (โค-ราย-นี-แบค-ที-เรียม) หรือ Kytococcus sedentarius (ไค-โต-คอค-คัส-ซี-เด็น-ทา-เรียส) ซึ่งปกติพบบนผิวหนังของมนุษย์ในปริมาณพอเหมาะ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอับชื้น โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ดังนั้น ผู้ที่มีเหงื่อออกมากและสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี หรือไม่รักษาความสะอาดของถุงเท้าและรองเท้า มักส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจนก่อให้เกิดโรคที่ฝ่าเท้าได้ โดยเชื้อเหล่านี้สามารถผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายผิวหนังชั้นบนจนเกิดเป็นรู หรือหลุม (ดังแสดงในรูปภาพ) โดยเฉพาะฝ่าเท้าบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ แต่มักไม่มีอาการคัน (แตกต่างจากเชื้อราหรือน้ำกัดเท้า) ส่วนกลิ่นเท้าที่เหม็นนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ (sulfur compounds) ออกมา ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ต้องกังวลว่าหากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วจะติดมาด้วย


โรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาอย่างไร
ยาหลักที่ใช้รักษาโรคนี้ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทาผิวหนัง (ดังแสดงในตาราง) ซึ่งใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาความสะอาดและดูแลเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ และอาจต้องใช้สารระงับเหงื่อ เช่น 20% aluminium chloride (อะ-ลู-มิ-เนียม-คลอ-ไรด์) ซึ่งมีทั้งชนิดผงโรยเท้าและน้ำยาทาเท้า วันละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าร่วมด้วย นอกจากนี้ บางกรณีแพทย์อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเป็นบริเวณกว้าง หรือใช้ยาทาแล้วไม่หาย แต่ยารับประทานอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ยา เป็นต้น

วิธีการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วมักเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น จึงควรดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และปฏิบัติตัว ดังนี้
- ล้างหรือฟอกเท้าด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่ผสมยาฆ่าเชื้อ แล้วเช็ดให้แห้ง
- ทาสารระงับเหงื่อที่เท้า (ดังกล่าวมาแล้ว) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- สวมถุงเท้าที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือ wool เป็นต้น
- เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมาก
- สวมรองเท้าหุ้มส้น เช่น รองเท้าบูท รองเท้ากีฬา รองเท้าคัทชู ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ไม่ควรสวมรองเท้าเดิมติดต่อกันเกิน 2 วัน ควรสลับการใช้เพื่อจะได้นำไปตากให้แห้ง
- ควรสวมรองเท้าแตะที่มีการระบายอากาศที่ดี เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสวมใส่ชุดพิธีการมากนัก
- ไม่ควรใช้ถุงเท้า รองเท้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อ
                จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าอาการเท้าเหม็นและเป็นรูนั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ หากใครสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายโรคนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง หรือในเบื้องต้นสามารถไปปรึกษาเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างเหมาะสม


แหล่งอ้างอิง/ที่มา


1. Bristow IR, Lee YL. Pitted keratolysis: a clinical review. J Am Podiatr Med Assoc 2014;104:177-82.


2. Pranteda G, Carlesimo M, Pranteda G, Abruzzese C, Grimaldi M, De Micco S, et al. Pitted keratolysis, erythromycin, and hyperhidrosis. Dermatol Ther 2014;27:101-4.


3. Leung AK, Barankin B. Pitted Keratolysis. J Pediatr 2015;167:1165.


4. Gao Y, Liu Z. Pits on the sole of the foot. BMJ 2018;361.


5. Law RWY, So E, Chu AKC, Logan DB. Pitted keratolysis: a case report and review of current literature. Proceedings of Singapore Healthcare 2018.


6. Oakley A. Pitted keratolysis [Internet]. Dermnetnz.org. 2016 [cited 26 Jun 2020]. Available from: https://dermnetnz.org/topics/pitted-keratolysis/


รูป 3


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://pharmacy.mahidol.ac.th/