ยาแก้คัดจมูกที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ใช้ไม่ได้ผล

GETTY IMAGES

ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการอาหารและยา หรือเอฟดีเอ (FDA) ของสหรัฐฯ เผยถึงผลประเมินทบทวนการทดลองระดับคลินิกที่จัดทำขึ้นล่าสุด ซึ่งชี้ว่ายาแก้อาการหวัดคัดจมูกชนิดรับประทานที่ใช้สาร “ฟีนิลเอฟรีน” (Phenylephrine - PE) เป็นตัวยาหลัก ไม่สามารถลดน้ำมูกหรือช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นอย่างที่ได้โฆษณาเอาไว้
                   ถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคยาชนิดนี้หลายล้านคนทั่วโลก เนื่องจากยาเม็ดที่มีส่วนผสมของสารฟีนิลเอฟรีนนั้น ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายตามท้องตลาดได้อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้ทดแทนยาซูโดเอฟิดรีน (pseudoephedrine) ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดไปเมื่อหลายปีก่อน
ผลการตรวจสอบดังกล่าวที่ชี้ว่า ฟีนิลเอฟรีนมีประสิทธิภาพไม่ต่างไปจากยาหลอก (placebo) ทำให้ทีมผู้เชี่ยวชาญเสนอคำแนะนำต่อเอฟดีเอของสหรัฐฯ ว่าควรจะจัดประเภทของยาดังกล่าวเสียใหม่ โดยระบุลงไปในฉลากยาให้ชัดเจนว่า ยาฟีนิลเอฟรีนชนิดรับประทานนั้นมีประสิทธิภาพต่ำหรือใช้ไม่ได้ผล เพราะตัวยาส่วนใหญ่จะสลายตัวไปเสียก่อนที่จะได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
                  อย่างไรก็ตาม ทีมที่ปรึกษาของเอฟดีเอได้ระบุด้วยว่า ยาฟีนิลเอฟรีนโดยทั่วไปยังคงเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง และยังสามารถใช้บรรเทาอาการหวัดและภูมิแพ้ที่นอกเหนือไปจากอาการคัดจมูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาหยอดตา หรือยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนนั้น ยังคงใช้แก้อาการคัดจมูกได้เป็นอย่างดี เพราะตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงมากกว่า
                  แถลงการณ์ของทีมที่ปรึกษาเอฟดีเอยังชี้ว่า “เราควรจะให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคในเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสมในแต่ละกรณี” พวกเขายังเน้นย้ำว่า ประชาชนไม่ควรต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลไปกับการซื้อยาที่ใช้ไม่ได้ผล โดยยอดขายยาฟีนิลเอฟรีนในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ทำกำไรสูงลิ่วถึง 1,760 ล้านดอลลาร์
                   คาดการณ์กันว่า เอฟดีเอสหรัฐฯ จะยังคงไม่สั่งห้ามการวางจำหน่ายยาชนิดนี้ในทันที แต่บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ ซึ่งมีสินค้าที่ผสมสารฟีนิลเอฟรีนอยู่เป็นจำนวนมาก อาจต้องถูกกดดันให้ปรับปรุงสูตรยาลดน้ำมูกชนิดรับประทานเสียใหม่ เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการแก้คัดจมูกจริงตามคำโฆษณา
                   ด้านสมาคมผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้บริโภค (Consumer Healthcare Products Association) ที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ในสหรัฐฯ ซึ่งคัดค้านผลการวิจัยดังกล่าวมาโดยตลอด ได้ออกมาระบุว่า “รู้สึกผิดหวัง” กับแถลงการณ์เรื่องยาฟีนิลเอฟรีนของทีมที่ปรึกษาเอฟดีเอในครั้งนี้


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/c3gwedrmy2vo