AAD ออกแนวทางปฏิบัติใหม่เพื่อรักษาสิวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สถาบันโรคผิวหนังแห่งอเมริกา (AAD) ออกแนวทางปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิว โดยเผยแพร่ทางระบบออนไลน์ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.2024 ในวารสาร the American Academy of Dermatology


นพ. Rachel V. Reynolds จากศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess ในเมืองบอสตัน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ AAD ที่นำเสนอคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิว อันเป็นการต่อยอดไกด์ไลน์ของ American Academy of Dermatology ฉบับปีค.ศ. 2016


AAD มีข้อเสนอแนะที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ 18 ข้อ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี (GPS) อีก 5 ข้อ โดยแนะนำให้ใช้ Benzoyl Peroxide รวมทั้งยาทาเฉพาะที่อย่าง Retinoids และยาปฏิชีวนะอื่น ๆ รวมไปถึงยา Doxycycline แบบรับประทาน สำหรับกรณีการรักษาอาการสิวอักเสบที่รุนแรง อันก่อให้เกิดผลด้านลบต่อจิตใจ หรือผิวมีแผลเป็น หรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีรับประทานหรือยาเฉพาะที่ตามมาตรฐานทั่วไปได้ แนะนำให้ใช้ยา Isotretinoin แบบรับประทาน ส่วนการใช้ยา Clascoterone หรือ Salicylic Acid และ Azelaic Acid ที่ใช้ทาเฉพาะที่ รวมถึงยา Minocycline ยา Sarecycline แบบรับประทาน ยาเม็ดคุมกำเนิดสูตรผสมแบบรับประทาน และยา Spironolactone ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ขณะที่ GPS นั้นครอบคลุมถึงการรักษาเฉพาะที่แบบผสมผสานวิธีการหลายรูปแบบ การจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเป็นระบบ การใช้สูตรผสมยาปฏิชีวนะอย่างเป็นระบบในการรักษาเฉพาะที่ รวมไปถึงการฉีด intralesional corticosteroid ในบริเวณรอยสิวขนาดใหญ่ด้วย


สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันเกือบ 50 ล้านคน ในแต่ละปี โดยอาการของสิวมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากสิว และบางคนเกิดปัญหายืดเยื้อจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าผู้ที่เป็นสิวได้รับการรักษาที่ดีที่สุด AAD จึงนำมาปรับปรุงแนวทางการดูแลจัดการสิวในผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กอายุเกิน 9 ปี


ส่วน นพ. John S. Barbieri ประธานร่วมของคณะกรรมการ Acne Guideline Workgroup ของ AAD กล่าวว่า การแก้ไขแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาสิวนี้เป็นไปตามคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับแพทย์ผิวหนังและแพทย์อื่น ๆ ที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นสิว โดยมีเนื้อหาที่ปรับปรุงจากแนวทางปฏิบัติด้านสิวของ AAD เมื่อปี 2016 พร้อมกับกล่าวถึงการใช้ยาเฉพาะที่กับผิวหนังแบบใหม่ ๆ รวมถึงการรักษาอย่างเป็นระบบด้วยยารับประทาน” ส่วนคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์ 18 ข้อ สำหรับวิธีการรักษาเฉพาะที่อย่างเป็นระบบนี้ได้ผ่านการอนุมัติใหม่แล้ว ดังต่อไปนี้
● Benzoyl Peroxide สำหรับการรักษาเฉพาะที่เพื่อลดปริมาณแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวบนผิวหนัง
● Retinoids สำหรับการรักษาเฉพาะที่ (เช่น adapalene, tretinoin, tazarotene, trifarotene) เพื่อช่วยขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขนและลดการอักเสบ
● ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน เช่น doxycycline และยาปฏิชีวนะเฉพาะที่อื่น ๆ สำหรับการลดปริมาณแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวบนผิวหนัง และลดการอักเสบ
● การใช้สูตรยาผสมร่วมกันระหว่าง Benzoyl Peroxide, Retinoids หรือยาปฏิชีวนะตามที่กล่าวมาแล้ว
ส่วนแนวปฏิบัติที่ดี (GPS) อีก 5 ข้อ มีดังนี้
● แนะนำให้จัดการกับสิวด้วยยาเฉพาะที่ ด้วยการผสมผสานการรักษาหลายรูปแบบ เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
● แนะนำให้จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงของการดื้อยาปฏิชีวนะและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาปฏิชีวนะ
● แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่แบบรับประทานร่วมกับ Benzoyl Peroxide เพื่อป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะ
● สำหรับผู้ป่วยที่มีตุ่มสิวขนาดใหญ่ แนะนำให้ใช้ยา corticosteroid แบบฉีด ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการบรรเทาอาการอักเสบและความเจ็บปวดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
● สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสิวระดับรุนแรง หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานด้วยยาแบบรับประทานหรือแบบทา แนะนำให้ใช้ยา Isotretinoin
นอกจากนี้ แนวทางปฏิบัติฉบับใหม่นี้ยังนำเสนอคำแนะนำแบบมีเงื่อนไขสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่การดำเนินการที่เหมาะสมที่สุดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละราย
● Topical Clascoterone สำหรับการจัดการกับสาเหตุสิวฮอร์โมน
● Topical salicylic acid สำหรับการขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขนและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
● Topical azelaic acid สำหรับการขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และทำให้จุดด่างดำจางลง หลังจากสิวหายไป
● Minocycline หรือ Sarecycline แบบรับประทาน สำหรับการลดปริมาณแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวบนผิวหนังและลดการอักเสบ
● การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดสูตรผสมแบบรับประทาน หรือ Spironolactone สำหรับการจัดการสาเหตุสิวฮอร์โมน


ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะออกมารับรองแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลอกผลัดเซลล์ผิวด้วยน้ำยาเคมี การใช้เลเซอร์และอุปกรณ์ที่ใช้แสงในการรักษา การใช้เทคนิค Microneedling การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหาร หรือรูปแบบการรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การใช้วิตามินหรือผลิตภัณฑ์จากพืช นอกจากนี้ คำแนะนำแบบมีเงื่อนไขนี้ ยังไม่ยอมรับการใช้ broadband light หรือ intense pulsed light รวมทั้งเจล adapalene 0.3%


นพ. Barbieri ยังยืนยันว่า “แพทย์ผิวหนังที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอยู่ในแถวหน้าของความก้าวหน้าใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นในการรักษาสิว” พร้อมทั้งกล่าวว่า “เราสามารถเสนอทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่เป็นสิวได้มากขึ้นกว่าที่เคย ขณะที่เราทำงานเพื่อจัดการกับข้อกังวลของพวกเขาและกำหนดแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่สำคัญไม่แพ้กัน แพทย์ผิวหนังต้องสามารถเข้าถึงทางเลือกการรักษาที่มีอยู่ทั้งหมด”


 

ข้อมูล :


https://www.aad.org/news/updated-guidelines-acne-management


 https://www.drugs.com/news/aad-updates-guidelines-management-acne-vulgaris-117464.html