5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

งานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สามารถลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เกือบ 90%


ขณะที่โรคมะเร็งปากมดลูก ถือเป็นโรคมะเร็งอันดับที่ 4 ที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกในแต่ละปีมากกว่า 300,000 คน


วัคซีน HPV ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างไร
วัคซีน HPV สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 9 สายพันธุ์ เช่น สองสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุการป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งทวารหนัก, มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ และมะเร็งศีรษะและลำคอ


ผลการศึกษายังพบอีกว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างต่ำ 10 ปี แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งคาดว่า ระยะการป้องกันอาจจะยาวนานกว่านั้น


นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุอีกว่า วัคซีนนี้สามารถลดอัตราการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้เกือบ 90%


ใครบ้างที่สามารถฉีดวัคซีน HPV
วัคซีน HPV ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หากได้รับวัคซีนนี้ก่อนการติดเชื้อไวรัส HPV เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น โดยไม่สามารถทำให้ร่างกายปลอดเชื้อโรคนี้ได้ หากได้รับเชื้อมาก่อนแล้ว


อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคนี้ในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์


องค์การอนามัยโลกระบุว่า การฉีดวัคซีนนี้อาจจะต้องใช้ราว 1 ถึง 2 โดส ส่วนคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดลงควรได้รับวัคซีน 2-3 โดส


อะไรคือ ไวรัส HPV
HPV ย่อมาจาก human papillomavirus (ฮิวแมน ปาปิลโลมา ไวรัส) เป็นกลุ่มไวรัสที่พบกันทั่วไป มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถพบได้บนฝ่ามือ, เท้า, อวัยวะสืบพันธุ์ หรือแม้แต่ภายในช่องปาก เมื่อติดเชื้อแล้วก็อาจจะไม่พบอาการใด ๆ แต่ก็มีเพียงบางสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดหูดตามร่างกาย


อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ หรือรับรู้ได้ว่าบนร่างกายจะสามารถจัดการกับไวรัสนี้ออกไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา


แต่ในกรณีสายพันธุ์ไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงสูง หากรับเชื้อไปก็สามารถทำให้เนื้อเยื่อเติบโตผิดปกติและนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้


ใครบ้างที่ได้รับเชื้อไวรัส HPV และติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
เชื้อไวรัสนี้ติดต่อกันได้โดยง่าย ผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง และพบว่า ราว 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัส HPV นี้มีอายุ 25 ปีขึ้นไป


ส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อยาวนานราว 8 เดือน ถึง 2 ปี


ในทางเทคนิคแล้ว การติดเชื้อไวรัส HPV ไม่จัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากไม่ได้ติดต่อกันจากสารคัดหลั่ง ในลักษณะเดียวกันกับโรคหนองใน


อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งการได้รับเชื้อไวรัส HPV ก็เกิดขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการสัมผัสซึ่งกันและกัน
การกระจายการฉีดวัคซีน HPV ทั่วโลกเป็นอย่างไร

 เอธิโอเปียคือหนึ่งในชาติแอฟริกันที่ให้บริการฉีดวัคซีน HPV แล้ว

องค์การอนามัยโลกระบุว่า เกือบ 90% ของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกมาจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงระดับกลาง ซึ่งมักจะไม่มีการตรวจคัดกรอง จนกระทั่งพบอาการป่วยได้พัฒนาเป็นโรคไปแล้ว


ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะกำจัดโรคนี้ให้ได้ภายในศตวรรษถัดไปด้วยการกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 90% ภายในปี 2030 ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในราว 140 ประเทศ

สำหรับพื้นที่ที่มีอัตราผู้หญิงได้รับวัคซีน HPV เพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกสูงที่สุด คือ ภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราที่มีอยู่ในอัตรา 24% ตามมาด้วยลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 16%, ยูโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภูมิภาคละ 14%


นอกจากนี้ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกยังสูงก็คือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไม่เพียงพอ, การจำกัดการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล และความสับสนต่อการฉีดวัคซีน เป็นต้น


ในทวีปแอฟริกา รวันดาเป็นประเทศแรกที่มีการรณรงค์การฉีดวัคซีน HPV เมื่อปี 2011 ด้วยการส่งเสริมให้เด็กหญิงมารับวัคซีนเร็วขึ้น พร้อมกับแนะนำโครงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิง


ภายใน 1 ปีแรก ในรวันดาสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กหญิงคิดเป็น 9 ใน 10 ของเด็กผู้หญิง หรือคิดเป็น 90% ของเด็กหญิงที่สามารถรับวัคซีนได้ทั้งหมด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยกให้เป็นต้นแบบแก่ประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินการเรื่องนี้


แม้ว่าวัคซีนจะดูเหมือนจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกลงได้ค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่สามารถปกป้องเชื้อไวรัส HPV ได้ทุกสายพันธุ์


ดังนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้หญิงอย่างหนึ่ง คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ หลังจากมีอายุครบ 25 ปี


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ : GETTY IMAGES, BBC


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล: www.bbc.com