ติดเชื้อเรื้อรังร้ายแรง ! ปี, 66 “มาเลเซีย” มีผู้ป่วย “โรคเรื้อน” เพิ่มขึ้น 40%

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานล่าสุด (29 ม.ค. 67) ว่า ยอดผู้ป่วยโรคเรื้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในปี 66

แถลงการณ์จากซูลเคฟลาย อาหมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย เนื่องในวันโรคเรื้อนโลก (World Leprosy Day) ซึ่งตรงกับทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ม.ค. ของทุกปี ระบุว่า ในปี 2566 มีการบันทึกจำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าวอยู่ที่ 256 ราย เทียบกับ 183 ราย ในปี 2565 ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความพยายามในการตรวจหาอย่างเข้มข้นมากขึ้น


ซูลเคฟลายระบุว่า ความพยายามในการตรวจหาอย่างเข้มข้นมากขึ้นเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในท้องถิ่นเป็นศูนย์ภายในปี 2573 (ปี 2030)


ซูลเคฟลายเสริมว่า การตรวจพบผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดตั้งแต่แรกเริ่ม สามารถควบคุมไม่ให้โรคเรื้อนแพร่กระจายต่อไป ขณะที่การรักษาตั้งแต่แรกเริ่มสามารถลดและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคและความพิการได้


สำหรับ “โรคเรื้อน” เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้คนอย่างร้ายแรง โดยในกรณีป่วยรุนแรงอาจส่งผลให้ใบหน้าผิดรูป และการทำงานของมือ-เท้ามีความผิดปกติ


ขณะที่ “จีน” ได้มีการออกแผนกำจัด “โรคเรื้อน” อย่างครอบคลุม


สำนักบริหารการป้องกันและควบคุมโรคระดับชาติของจีน รายงานการออกแผนการกำจัดโรคเรื้อนอย่างครอบคลุมของจีน


แผนการดังกล่าวซึ่งร่วมออกโดยสำนักบริหารฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ระบุว่า จีนจะไม่มีภูมิภาคระดับอำเภอที่มีความชุกโรคเรื้อนมากกว่า 1 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ภายในปี 2573 (ปี 2030)


โดยจีนดำเนินการตามแผนการฉบับหนึ่งระหว่างปี 2011-2020 (ปี 2554-2563) และสร้างความคืบหน้าในการกำจัดภัยคุกคามของโรคเรื้อน โดยข้อมูลทางการเปิดเผยว่า เมื่อนับถึงสิ้นปี 2020 จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนในจีนลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน


ส่วนแผนการฉบับใหม่ข้างต้นสำหรับช่วงปี 2024-2030 (ปี 2567-2573) เรียกร้องการดำเนินมาตรการแบบสอดประสานทั่วประเทศใน 3 ระดับ โดยมุ่งเป้าที่การแพร่กระจายของโรค ความผันผวนของจำนวนผู้ป่วยและการระบาดซ้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อลดความชุกของโรคเพิ่มเติม


ขณะเดียวกันแผนการใหม่ยังกำหนดภารกิจการดำเนินงานหลัก อาทิ การตรวจหาผู้ป่วย การรักษาแบบมุ่งเป้า รวมถึงการป้องกันความผิดปกติและความบกพร่อง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : www.thaipbs.or.th


ขอขอบคุณ คุณจิราภพ ทวีสูงส่งเจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)