รู้หรือไม่? เชื้อราแมว โรคผิวหนังแมว ติดต่อสู่คนเลี้ยงได้ด้วยนะ!

“เชื้อราแมว” นั้นสามารถรักษาได้ไม่ยาก และป้องกันได้
ทาสแมวทั้งหลายหาข้อมูลโดยด่วน เพราะโรคผิวหนังแมวนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย นอกจากจะสามารถติดต่อระหว่างแมวสู่แมวด้วยกันเองแล้ว ยังอาจกลายเป็นปัญหาสำหรับทาสแมวอย่างเรา ๆ เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วย แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะอาการแมวเป็นเชื้อราหรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เชื้อราแมว” นั้น สามารถรักษาได้ไม่ยาก และป้องกันได้ ถ้าเหล่าทาสแมวอยากรู้แล้วว่าโรคนี้เกิดจากอะไร และมีลักษณะอาการอย่างไร รวมถึงจะมีวิธีการรักษาแบบไหน มาเก็บข้อมูลไปพร้อม ๆ กันเลย!

เชื้อราแมวคืออะไร?
เชื้อรามีหลายชนิดด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดจาก Microsporum Canis ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการ โดยเชื้อราประเภทนี้มักจะเกิดจากความชื้นสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของน้องแมว แน่นอนว่าแมวขนยาวจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าแมวขนสั้น เพราะสามารถเกิดการสะสมความชื้นได้มากกว่า


ลักษณะเชื้อราแมวเป็นอย่างไร?
ลักษณะอาการของโรคนี้มักจะสังเกตได้ไม่ยาก สังเกตจากบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อจะเป็นผิวหนังที่มีลักษณะแห้ง แดง และอาจมีอาการผิวหนังลอก รวมถึงอาการแมวขนร่วงเป็นหย่อม ๆ อีกด้วย หากพบอาการเหล่านี้ก็สันนิษฐานได้เลยว่าเจ้าแมวน้อยของคุณอาจกำลังเป็นเชื้อราแมวก็ได้ หากไม่รีบทำการรักษา คนเลี้ยงแมวอย่างเรา ๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อราจากน้องแมวได้เหมือนกัน!


การติดต่อของโรคจากแมวสู่แมว และแมวสู่คน
แยกแมวเป็นเชื้อราออกจากน้องแมวที่ยังไม่ป่วยโดยเร็วที่สุด เพราะอาการของเชื้อราสามารถติดต่อกับแมวด้วยกันได้ หากมีแมวที่เลี้ยงรวมกันหลายตัวควรปฏิบัติดังนี้ หากมีแมวตัวใดตัวหนึ่งมีอาการของโรคผิวหนัง
1. พาแมวทุกตัวไปตรวจเพาะเชื้อที่คลินิก
2. แยกแมวติดเชื้อราและไม่ติดเชื้อราออกจากกัน
3. ควรยกเลิกโปรแกรมการผสมพันธุ์ และการพาแมวออกไปนอกสถานที่
4. ควรใช้แชมพูสำหรับรักษาอาการเชื้อราแมวในการอาบน้ำโดยเฉพาะ


เมื่อทาสแมวก็สามารถติดเชื้อราแมวได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการลูบ กอด หอม หรือการสัมผัสอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายคือกลุ่มคนเหล่านี้

- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ


รักษาเชื้อราแมวด้วยวิธีใดได้บ้าง?
โดยปกติแล้วการรักษาอาการเชื้อราดังกล่าวในแมวนั้นสามารถทำได้ด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ ใช้แชมพูฆ่าเชื้อแบบเฉพาะ และอาจจะให้กินยาร่วมด้วยจนกว่าอาการดีขึ้น ซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้
- ให้ยากับน้องแมวกินตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- หากแมวมีอาการเบื่ออาหาร ซึม ควรหยุดยากินและพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
- พาน้องแมวไปรับการตรวจร่างกายตามที่สัตวแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ


รักษาเชื้อราแมวในคนได้อย่างไร? ป้องกันอย่างไร?
การรักษาอาการเชื้อราที่ติดมาจากแมวในคนนั้น ส่วนมากจะใช้วิธีทายาฆ่าเชื้อราโดยตรงบนผิวหนัง หากอาการไม่หนักมาก ก็จะดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีรอยแดงเป็นวง ๆ เป็นบริเวณกว้างตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจจะต้องใช้ยาแบบทาและยากินร่วมกัน
สำหรับใครที่หายจากอาการแล้ว หรือยังไม่เคยเป็น ก็อย่าลืมป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเชื้อราแมวกันด้วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. หากพบอาการเบื้องต้นของอาการโรคผิวหนังในแมวที่เลี้ยงไว้ ให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยด่วนที่สุด
2. ทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงให้สะอาดเสมอหลังการสัมผัส

3. ดูแลน้องแมวที่เลี้ยงไว้ให้สะอาด อาบน้ำสม่ำเสมอ และเป่าขนให้แห่งทุกครั้งหลังอาบน้ำ
4. ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงน้องแมว เพื่อไม่ให้มีความอับชื้น
5. เลือกใช้แชมพูหรือครีมอาบน้ำที่ช่วยฆ่าเชื้อบนผิวหนัง
6. หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการตามผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน


ต่อไปนี้หากเจ้าเหมียวที่บ้านมีอาการคล้าย ๆ การเป็นเชื้อรา ทาสทั้งหลายก็อย่าลืมพาเจ้านายไปตรวจและรับการรักษาตั้งแต่พบอาการทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน และจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะลามจนไปติดแมวตัวอื่น ๆ รวมถึงตัวเจ้าของเองด้วย จะได้มีสุขภาพที่ดีทั้งน้องแมวและเจ้านาย

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :  thonglorpet.com