ไขข้อสงสัย?! ยาหมดอายุกินได้ไหม? ดูวันหมดอายุยาตรงไหน? เปิดตู้ยาแล้วมาเช็กกัน!

ในช่วงเวลาที่เกิดป่วยขึ้นมากะทันหัน ยาที่เหลือเก็บในบ้าน คงเป็นตัวเลือกที่ใครหลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรก แต่ยาก็ย่อมมีวันหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ จึงกลายมาเป็นคำถามคาใจของใครหลายคนว่า ยาหมดอายุกินได้ไหม? กินไปแล้วจะเป็นอันตราย หรือจะยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคหรือเปล่า? มาหาคำตอบในบทความนี้กันค่ะ
ยาหมดอายุกินได้ไหม? ดูวันหมดอายุยาตรงไหน?
ยาหมดอายุ คือ ยาที่มีลักษณะผิดไปจากข้อกำหนด หรือเหลือตัวยาสำคัญน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทางผู้ผลิต โดยทางผู้ผลิตจะยึดเกณฑ์จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือเกณฑ์ตามตำรายาสากลประเทศต่าง ๆ ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ยาหมดอายุกินได้ไหม กินไปจะเป็นอันตราย หรือมีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาโรคหรือเปล่า
ยาหมดอายุกินได้ไหม?
ยาหมดอายุไม่ควรกินค่ะ เนื่องจากตัวยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคนั้นได้เสื่อมสลายจนเหลือปริมาณน้อยกว่า 90% ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคได้ และยาหมดอายุบางชนิดอาจมีแบคทีเรียเจริญเติบโตอยู่ภายใน หากกินหรือใช้ อาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยาบางชนิด อาจกลายสภาพเป็นยาพิษ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายโดยเฉพาะตับและไต จนอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยค่ะ
วันหมดอายุยา ดูตรงไหน?
สำหรับยาที่มีบรรจุภัณฑ์ มักจะระบุวันหมดอายุยาไว้ที่ใต้กล่อง ข้างกระปุก บนแผงยา หรือด้านล่างฉลากยาค่ะ โดยจะใช้คำว่า ยาสิ้นอายุ หรือหากเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำหรือตัวย่อว่า Exp Date, Expiry, Expires, Use By หรือ Use Before แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ยานั้นหมดอายุ


 

ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์หรือฉลากระบุแค่เดือนและปีที่หมดอายุ ให้นับวันสุดท้ายของเดือนที่ระบุมา เป็นวันหมดอายุค่ะ เช่น ระบุมาว่า “Use Before 07/22” วันที่ยาหมดอายุก็คือวันที่ 31/07/2022 หรือ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.2022 (พ.ศ.2565) นั่นเองค่ะ
ยาที่ซื้อมาไม่มีวันหมดอายุบอก ทำไงดี?!
ปัญหานี้หลายคนอาจเจอได้บ่อย ๆ เนื่องจากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยามักจะแบ่งขายใส่ซองหรือถุงซิปล็อกมาให้ แล้วด้านหลังของถุงใส่ยาก็จะระบุเพียงว่า เป็นยารักษาอาการอะไร กินเวลาไหนบ้าง และกินครั้งละกี่เม็ดเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุวันหมดอายุมาด้วย หรือยาบางอย่างแม้จะมาพร้อมบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้มีวันหมดอายุยาบอกเอาไว้

แม้จะไม่ทราบวันหมดอายุยาเหล่านั้นได้แน่ชัด แต่เราสามารถประมาณวันหมดอายุได้ค่ะ เนื่องจากยาที่เปิดใช้แล้วจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ยาเสียหรือหมดประสิทธิภาพในการรักษาก่อนวันหมดอายุที่ระบุมาบนผลิตภัณฑ์ค่ะ โดยเราสามารถประมาณวันหมดอายุได้ด้วยการนับระยะเวลาที่เราได้รับการแบ่งขายยานั้นมา หรือเปิดผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานยานี้ครั้งแรก จนถึงวันเดือนปีปัจจุบันว่าผ่านมานานแค่ไหนแล้ว
ยาที่เปิดใช้แล้ว/แบ่งซื้อ หมดอายุเมื่อไหร่?
1. อายุยาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ ยาแบบเม็ดทุกรูปแบบ ทั้งชนิดเคลือบ (เช่น วิตามิน ยาบำรุงเลือด) ชนิดไม่เคลือบ (เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้) และชนิดแคปซูล เช่น (ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด)
2. อายุยาไม่เกิน 6 เดือน ได้แก่ ยาน้ำชนิดใส (เช่น ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ยาน้ำเชื่อมต่างๆ) และยาน้ำชนิดแขวนตะกอน (เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำสตรี ยาธาตุ) ยาชนิดครีม ชนิดเจล และขี้ผึ้ง (เช่น ยาหม่อง ยานวด ยาทาบรรเทาแมลงสัตว์กัดต่อย) ยกเว้น เจลแอลกอฮอล์ หากเปิดแล้ว ต้องรีบใช้ภายใน 3 เดือน
3. อายุยาไม่เกิน 1 เดือน ได้แก่ ยาหยอดตา-ป้ายตา แต่หากยานั้นไม่ผสมสารกันเสีย ควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
4. อายุยาไม่เกิน 7 วัน ได้แก่ ยาชนิดผงละลายน้ำที่ผสมน้ำแล้ว แต่ถ้าหากเก็บในตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 14 วัน

"อายุยาข้างต้น เป็นการประมาณเท่านั้น อาจแตกต่างจากนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่ใช้ ส่วนประกอบ และสภาพการเก็บรักษายา"
ยาเสื่อมสภาพ อันตรายไม่แพ้ยาหมดอายุ!
ยาเสื่อมสภาพ คือ ยาที่ลักษณะภายนอก (ทางกายภาพ) เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ทั้งรูปร่าง สี กลิ่น รสชาติ ซึ่งยาเสื่อมสภาพนี้อันตรายไม่ต่างจากยาหมดอายุ ดังนั้น หากพบว่ายาเสื่อมสภาพ แม้จะยังไม่หมดอายุหรือเปิดใช้ได้ไม่นาน ก็ควรทิ้งทันทีโดยเราสามารถสังเกตลักษณะของยาเสื่อมสภาพได้ ดังนี้

 


วิธีสังเกตยาหมดอายุ/เสื่อมสภาพ
1. ยาเม็ด
- ชนิดเคลือบ ยาเม็ดชนิดเคลือบ โดยปกติจะมีลักษณะเป็นมันเงา แต่ถ้ายาเกิดเสื่อมสภาพ จะสังเกตเห็นยาดูมีลักษณะเยิ้ม เหนียว มีกลิ่นหืน บูด หรือผิดปกติไปจากเดิม
- ชนิดไม่เคลือบ เม็ดยาจะดูชื้น สัมผัสดูจะนิ่ม ๆ มีลักษณะแตก บิ่น หรือร่วนเป็นผง อาจสังเกตเห็นจุดด่าง หรือขึ้นรา และมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม
- ชนิดแคปซูลแข็ง เปลือกแคปซูลจะบวมโป่ง มีเชื้อราขึ้นเป็นจุด ๆ ผงยาเปลี่ยนสี หรือจับกันเป็นก้อน
- ชนิดแคปซูลนิ่ม เปลือกแคปซูลเสียรูปทรงไปจากเดิม มีลักษณะเยิ้มเหลว เหนียว หรือเปื่อยทะลุ จนตัวผงยาภายในไหลออกมาด้านนอก

2. ยาน้ำ
- ยาน้ำชนิดใส (ยาน้ำเชื่อม) สีเปลี่ยนไป มีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นบูด จากที่เคยใส จะเป็นตะกอนหรือขุ่น เหมือนผงยาละลายไม่หมด หรืออาจสังเกตเห็นฟองก๊าซ หรือเยื่อเบา ๆ ลอยอยู่
- ยาน้ำชนิดแขวนตะกอน มีสี กลิ่น รสเปลี่ยนไป ดูมีความเข้มข้น เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นตะกอนเกาะกันแน่น
3. ยาชนิดผงละลายน้ำ ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถละลายน้ำได้ หรือบรรจุภัณฑ์จะมีไอน้ำ หรือหยดน้ำเกาะ
4. ยาหยอดตา-ป้ายตา ตัวยาจากใสจะกลายเป็นขุ่น เมื่อหยอดตาแล้วจะรู้สึกแสบตามากกว่าปกติ

5. ยาอื่น ๆ
- ชนิดครีม เนื้อครีมแยกชั้น สี และเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป จะรู้สึกหนืดมากกว่าปกติ มีกลิ่นเหม็นหืน
- ชนิดขี้ผึ้ง ลักษณะการเสื่อมสภาพคล้ายกับชนิดครีม แต่อาจสังเกตเห็นของเหลวไหลออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา
- ชนิดเจล จากที่ใสจะกลายเป็นขุ่น และเนื้อยาไม่เกาะเป็นเนื้อเดียวกัน
"รู้หรือไม่ว่า การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ยาเสื่อมสภาพเร็ว โดยเฉพาะยาที่ไวต่ออุณหภูมิ ความชื้น และแสง"

How to ทิ้งยาหมดอายุอย่างไรให้ปลอดภัย
หลังจากที่ทราบไปแล้วว่า ยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุไม่สามารถกินได้ ต้องทำการทิ้งทันที โดยทิ้งไม่ถูกวิธีนั้น ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องรู้วิธีการทิ้งยาหมดอายุหรือเสื่อมสภาพให้ถูกวิธี
- ปฏิบัติตามวิธีการทิ้งยานั้น ๆ ตามเอกสารกำกับยา หรือฉลากยาที่ให้มากับบรรจุภัณฑ์
- ไม่ควรทิ้งลงอ่างล้างจาน หรือชักโครก นอกจากเอกสารกำกับยาจะแนะนำให้ปฏิบัติเท่านั้น
- ควรลบชื่อและข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นทราบถึงข้อมูลการรักษา
- ใส่ถุงซิปล็อก แล้วเขียนกำกับหน้าถุงว่า ยาหมดอายุทิ้ง แล้วทิ้งแยกในถังขยะอันตราย
- หากไม่มีเอกสารกำกับยา หรือไม่มั่นใจว่าจะทิ้งได้ถูกต้องและปลอดภัย สามารถนำยาดังกล่าวไปคืนให้โรงพยาบาล ร้านที่จ่ายยาให้เรามา หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดสารเคมีอันตรายในครัวเรือน เพื่อที่จะได้ทำลายยาอย่างถูกวิธี
ยาเหลือเต็มบ้าน (ยังไม่หมดอายุ) เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้!
สำหรับใครที่มียาเหลือเต็มบ้าน เนื่องจากได้ยามาเยอะ หรือได้รับการจ่ายมาซ้ำซ้อน อย่าปล่อยให้ยาของคุณหมดอายุหรือเสื่อมสภาพไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยาเหลือใช้เหล่านี้ สามารถเอาไปให้กับผู้ที่ต้องการได้ ALLWELL ขอชวนทุกท่านมาบริจาคยาเหลือใช้ (ที่ยังไม่หมดอายุ) ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการยากันค่ะ

1. ยาที่เปิดรับบริจาค
- ยาที่ยังไม่หมดอายุ อย่างน้อย 6 เดือน ได้ทั้งยาพารา ยาแก้แพ้ หรือยารักษาตามอาการ
- ยาต้องยังไม่เปิดใช้ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทเท่านั้น
- ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน (วันหมดอายุ 1 ปีขึ้นไป)
2. ยาที่ไม่รับบริจาค
- ยาหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ
- ยาที่เปิดใช้งานแล้ว
- ยาที่ต้องแช่เย็นเท่านั้น
- ยาทา เช่น ยาแดง ยาหยอดตา ยาแก้ร้อนใน
- ยาเฉพาะโรค เช่น ยาโรคหัวใจ ยาไทรอยด์ ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด
3. สถานที่ที่เปิดรับบริจาค
- โรงพยาบาลอุ้มผาง [ที่อยู่ในการจัดส่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง (ยาบริจาค) เลขที่ 159 หมู่ที่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170]
- ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส ทั่วประเทศ (เช็กสาขาใกล้บ้านได้ที่นี่>>https://exta.co.th/store/)
สรุป
สำหรับข้อสงสัยเรื่อง ยาหมดอายุกินได้ไหม ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ควรกินเป็นอย่างยิ่ง หากพบแล้วควรทิ้งทันที (ต้องทิ้งอย่างถูกวิธี) อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ยาเหลือ แม้จะยังไม่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ แต่หากเป็นยารักษาโรคเฉพาะ ยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแก้อาเจียน ฯลฯ ไม่ควรนำมากินต่อ และให้ผู้อื่นกินโดยเด็ดขาด ทางที่ดีที่สุด คือ การไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค และกินยาตามคำสั่งแพทย์ค่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก :สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
: มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม
:โรงพยาบาลวิภาวดี
: โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์
: ดร.ภญ. ศรีวรรณ ธีระมั่นคง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : allwellhealthcare.com