อียู. ยืนยัน GLP-1 ไม่มีผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

สหภาพยุโรปตรวจสอบตระกูลยา GLP-1 โดยเฉพาะยาที่มีชื่อทางการค้าอย่าง Ozempic และ Wegovy ไม่พบการเชื่อมโยงกับความคิดฆ่าตัวตาย


เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการประเมินความเสี่ยงด้านเภสัชภัณฑ์ (PRAC) ของสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) ภายใต้สังกัดสหภาพยุโรป เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลของการใช้ตระกูลยา GLP-1 (glucagon-like peptide-1) เพื่อยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานเชิงสถิติหรือข้อบ่งชี้ใด ๆ ที่จะเชื่อมโยงการใช้ GLP-1 receptor agonists กับแนวโน้มของผู้ป่วยเบาหวานที่คิดจะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายร่างกายตัวเอง หลังจากที่คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปในทำนองนี้ไปก่อนแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา


ยาตระกูล GLP-1 ซึ่งมีโมเลกุล Semaglutide เป็นยาสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยมีผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากการที่ทำให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง และทำให้รู้สึกอิ่มมากขึ้น ปัจจุบันยาตระกูล GLP-1 อย่าง Ozempic และ Wegovy ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนัก


EMA วิเคราะห์ฐานข้อมูลจากระบบบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสถิติเกี่ยวกับแนวโน้มที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 คิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย Semaglutide ที่เป็น GLP-1 หรือได้รับยา non-GLP-1 receptor agonist ตัวอื่น ๆ รวมไปถึงผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักมากผิดปกติ หรือเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ ยังนำข้อมูลจากการทดลองทางคลินิก และการศึกษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางคลินิก มาประกอบการพิจารณา ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเอง ในข้อมูลของผลิตภัณฑ์ของตระกูลยา GLP-1 แต่ผลสรุปนั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงยา tirzepatide ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Mounjaro และ Zepbound และใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เหมือนกัน


ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และการทำร้ายร่างกายตัวเองจากการใช้ GLP-1 มาจากรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2023 โดยระบุว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับยา Semaglutide 2 ราย มีความคิดฆ่าตัวตาย และอีก 1 ราย ทำร้ายตนเอง แม้ว่าดูเหมือนจะเป็นเคสเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยหลายพันคนที่ใช้ GLP-1

ข้อมูล : 1https://www.medicalnewstoday.com/articles/glp-1-drugs-not-linked-to-suicidal- thoughts