AI เร่งพัฒนายาปฏิชีวนะรุ่นใหม่

AI ที่ใช้รันระบบ ChatGPT ได้รับการพิสูจน์ในระดับหนึ่งว่า สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนายาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อกำราบแบคทีเรียดื้อยาได้อย่างดีเยี่ยม


ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature Biomedical Engineering เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.2027 ได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวางหลังจากประสบความสำเร็จในเบื้องต้นจากการทดลองยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่มาจากสูตรคิดค้นของ AI กับสัตว์


ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย UT Austin อาศัยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ชนิดเดียวกับที่ขับเคลื่อนระบบ ChatGPT มาใช้ประมวลผลและดัดแปลงสูตรยาฆ่าแบคทีเรียที่เคยเป็นพิษในมนุษย์มาพัฒนาปรับปรุงใหม่เพื่อนำมาใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การพยากรณ์โรคสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรงให้ผลที่แย่ลงเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ขณะที่การพัฒนาทางเลือกใหม่ในการรักษาหยุดชะงัก แต่ทีมนักวิจัยของ UT Austin เชื่อว่า เครื่องมือ AI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาใหญ่นี้ได้


นาย Claus Wilke ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาเชิงบูรณาการ สถิติ และวิทยาการข้อมูล มั่นใจว่า LLM จะเป็นก้าวสำคัญในการประยุกต์ใช้ Machine Learning ในด้านชีววิศวกรรมที่เกี่ยวกับสารโปรตีนและเปปไทด์ โดยจะลดขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์มากมายที่ต้องใช้เวลาอย่างมากในการประมวลผล และจะเร่งการพัฒนาวิธีการรักษาโรคหรือยาในอนาคตได้เป็นอย่างดี


สำหรับโครงการนี้ นักวิจัยยังใช้ AI พัฒนายาปฏิชีวนะที่มีอยู่แล้วชื่อว่า Protegrin-1 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะจะไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยตรงแต่ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์ หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์ถูกทำลายไปด้วย LLM จึงสร้างแบบจำลองของ Protegrin-1 เวอร์ชันที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Protegrin-1.2 (bsPG-1.2) หนูทดลองที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิด เมื่อได้รับ bsPG-1.2 ไปแล้ว 6 ชั่วโมง ปรากฏว่าแบคทีเรียดื้อยาเหล่านั้นแทบจะไม่หลงเหลือในอวัยวะของพวกมันอีกเลย นักวิจัยหวังว่าจะนำ bsPG-1.2 มาทดลองกับมนุษย์ในไม่ช้านี้


 

ภาพประกอบและข้อมูล : https://medicalxpress.com/news/2024-07-ai-door-safe-effective-antibiotics.html