เปิดข้อกังวล-คำชี้แจง แพทยสภา-สภาเภสัชฯ หลังศาลปกครองรับฟ้องคดี โครงการจ่ายยา 16 อาการ บัตรทอง

                                     

    รูป 1 GETTY IMAGES


ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องคำร้องของแพทยสภา กรณีโครงการจ่ายยา 32 อาการ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังจากแพทยสภาแสดงความกังวลว่าการจ่ายยาโดยไม่ตรวจวินิจฉัย อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงอย่างไร และกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างไรบ้าง


การดำเนินการให้บริการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” เป็นบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ดำเนินโครงการที่เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ด้วยความร่วมมือของ สปสช. และสภาเภสัชกรรม


เดิมทีโครงการนี้ให้เภสัชกรร้านยาสามารถจ่ายยา 16 อาการเล็กน้อย แต่ปัจจุบันขยายเป็น 32 อาการ เมื่อเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา


ก่อนหน้านี้แพทยสภาได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า โครงการดังกล่าวเป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรมจากวิชาชีพเภสัชกรรมหรือไม่ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่รับข้อหารือไว้พิจารณา แต่ได้ให้ความเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐานวิชาชีพของตนภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละวิชาชีพ


หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของแพทยสภา เมื่อ 9 ต.ค. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า ประชาชนยังใช้สิทธิได้จนกว่าคำสั่งศาลจะสิ้นสุด
บีบีซีไทยคุยถึงเหตุผลและคำชี้แจงของแพทยสภาและสภาเภสัชกรรมต่อประเด็นข้อพิพาทนี้
1. ความเสี่ยงของผู้ป่วย
แพทยสภา: แถลงการณ์แพทยสภา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ระบุว่า แม้โครงการจ่ายยาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแง่การได้รับยารวดเร็ว และยังอาจช่วยลดความแออัดโนโรงพยาบาลได้ แต่แทนที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่เจ็บป่วยจะได้รับการตรวจ รักษา บำบัด เยียวยา อย่างถูกต้องและตรงตามสมมติฐานของโรคอันแท้จริง แนวทางของโครงการนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การให้ยาตามอาการแต่อาจไม่ตรงกับโรค ทำให้โรคซับซ้อนขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จนถึงมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเพิ่มโอกาสในการดื้อยาอันยากต่อการรักษา


แหล่งข่าวจากแพทยสภาซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับบีบีซีไทยว่า อาการบางอย่างหรือยาบางชนิดเป็นข้อกังวลของแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากข้อจำกัดหนึ่งของการรักษา บางอาการไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติอย่างเดียว อาการบางอย่างต้องลงรายละเอียด จะจ่ายยาบรรเทาเบื้องต้นไม่ได้ และบางอาการที่อยู่ในโครงการนี้ไม่ใช่อาการเล็กๆ น้อยๆ


“แพทยสภาไม่ได้มีปัญหาว่า คุณจ่ายยา แต่ว่ายาบางตัวหรืออาการบางโรคมันอาจจะเกิดอันตราย โดยเฉพาะการใช้งบประมาณของประเทศมาจ่าย คือชั่งน้ำหนักแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย”


แหล่งข่าวจากแพทยสภาย้ำด้วยว่า กรณีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เป็นความต้องการแก้ไขนโยบาย สปสช. ที่ออกมาเท่านั้น ไม่ใช่ความเกลียดชังต่อวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดการใช้ยาชนิดที่ว่าเพียงเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ใช้ยาก่อน ซึ่งใน 32 กลุ่มอาการไม่ใช่ว่าแพทยสภาจะไม่เห็นด้วยทุกกลุ่ม แต่บางกลุ่มเป็นความกังวลเรื่องอันตราย


“ถ้ามีการปรับว่าอาการพวกนี้ไม่ใช่เจ็บป่วยเล็กน้อยทั้งหมด แพทยสภาก็น่าจะพอใจ หรือไม่ก็ควรมีการทำงานร่วมกันโดยสหวิชาชีพ”


สภาเภสัชกรรม: รศ.พิเศษ เภสัชกร (ภก.) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สิ่งที่แพทยสภาพูดเป็นเชิงหลักการ เภสัชกรทราบดีว่า ยาบางอย่างมีอันตรายและกลุ่มอาการบางกลุ่มก็มีความอันตรายที่ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยากินเอง เภสัชกรวิชาชีพศึกษาเรื่องยาและโรคมาเป็นเวลา 6 ปี และจ่ายยาภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.สภาวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งมีการจ่ายยามาเป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว ดังนั้น จึงมีดุลยพินิจต่อการดูแลผู้ที่มาซื้อยาได้


ส่วนกลุ่มโรคที่แพทย์ระบุว่าเป็นโรคอันตราย ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโดยแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนของเภสัชกรของโรงพยาบาลที่ต้องเข้าใจกระบวนการวินิจฉัยของแพทย์ แต่โครงการจ่ายยา 32 กลุ่มอาการภายใต้งบประมาณของ สปสช. เป็นคนละส่วน


“กรณีร้านขายยาโครงการนี้มันคนละมิติ มันเป็นเรื่อง common illness (ความเจ็บป่วยธรรมดา)


ซึ่งทุกคนเป็นกันประจําและก็ดูแลตัวเอง แต่เดิมประชาชนก็เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็ดูแลตัวเอง ไปร้านยาซื้อยา อันนี้มันก็เหมือนกับลักษณะเดิม เพียงแค่ สปสช. จ่ายเงินให้ เพราะก็เป็นกลุ่มที่ควรจะได้สิทธิ์” ภก.กิตติกล่าว


 

รูป 2  PARIS JITPENTOM/BBCTHAI

2. เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ร้านขายยาทั่วไปจ่ายยาได้อยู่แล้ว เหตุใดเมื่ออยู่ในโครงการ สปสช. แพทยสภาจึงคัดค้าน


แพทยสภา: แหล่งข่าวจากแพทยสภาอธิบายกับบีบีซีไทยว่า การซื้อยากินเองตามร้านยาของประชาชน ตามข้อกำหนดเวชปฏิบัติของแพทยสภาถือเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเป็นหนึ่งในข้อยกเว้น 6 ข้อ ที่ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย โดยถือว่าการซื้อยากินเอง คือ “การประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อตนเอง” นั่นคือการวินิจฉัยว่าตัวเราป่วยเป็นอะไร และเราไปซื้อยา อันนี้เป็นสิทธิที่พึงทำได้ โดยมีเภสัชกรให้คำแนะนำ


แต่เมื่อเป็นโครงการที่รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน ความหมายของ “การประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อตนเอง" จะเปลี่ยนไป นั่นคือจะมีผลในทางพฤตินัยกว่าเมื่อมีอาการในกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ให้ไปรับยาที่ร้านขายยาได้ ซึ่งอาการต่างๆ บางอย่างอาจไม่มีอันตราย แต่บางกลุ่มอาการมีข้อจำกัดในการจ่ายยาเพื่อรักษา


“เราไม่ขัดขวางการจ่ายยาของร้านขายยาสำหรับการเจ็บป่วยเล็กน้อย และเราเชื่อว่าการจ่ายยาร้านขายยาลดความแออัดในโรงพยาบาล แต่ว่าการจ่ายยาทุกอาการหรือการจ่ายยาบางไอเทมเรามีความกังวล”


นอกจากนี้แหล่งข่าวจากแพทยสภายังชี้ด้วยว่า ระบบและแนวทางการจ่ายยาในลักษณะนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานการใช้ยาของประชาชน


“ถ้าเราใช้เงินรัฐจะกลายเป็นว่าเราได้ตั้งเป็นนอร์ม (บรรทัดฐาน) ของประเทศว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการเล็กน้อย ดังนั้นก็ต้องให้เป็นอาการเล็กน้อยจริง เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ และคนไข้จะได้ไม่ไปคุ้นเคยว่าเป็นแค่อาการเล็กน้อยก่อน จึงไปรับยาก่อน” กรรมการแพทยสภาคนหนึ่งกล่าวกับบีบีซีไทย


สภาเภสัชกรรม: รศ.พิเศษ เภสัชกร (ภก.) กิตติกล่าวกับบีบีซีไทยในประเด็นนี้ว่า เป็นทัศนะของทางแพทยสภา แต่ย้ำว่า ประชาชนจะไปซื้อยาเขาต้องรู้สึกเจ็บป่วยจึงจะเดินทางมารับยาตามโครงการนี้ เพียงแต่ความแตกต่างมีเพียงการที่ สปสช. จ่ายเงินให้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพเท่านั้น


นายกสภาเภสัชกรรมระบุด้วยว่า สำหรับกลุ่มอาการ 32 กลุ่ม ในโครงการนี้ก็เป็นกลุ่มอาการที่มีการจ่ายยาตามร้านยาอยู่แล้ว


“จริงๆ ถ้ามองแบบเป็นกลางๆ มันก็คือพฤติกรรมเหมือนเดิม เพียงแค่ สปสช. จ่ายเงินให้ แทนที่เขาต้องจ่ายเองเท่านั้น เพราะถ้าไม่เจ็บป่วยก็คงไม่มา แล้วเจ็บป่วยจริงๆ มันก็เหมือนกับปกติที่เขาไปร้านยาเสียเงิน เขาก็มาบอกว่าเขาจะเป็นอาการอย่างนี้ ก็อยากได้ยาอย่างนี้ และเภสัชกรก็เลือกที่เหมาะสมกับเขาให้”


 

รูป 3  GETTY IMAGES

3. กลุ่มอาการที่แพทยสภามีความกังวลและคำชี้แจงจากสภาเภสัชฯ
แพทยสภา: จากการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวจากแพทยสภา มีหลายกลุ่มอาการที่แหล่งข่าวรายนี้ยกตัวอย่างขึ้นมาได้แก่
- ยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ เช่น ยาหยอดตา ยาหยอดหู
- ยาไมเกรนที่ทำให้เส้นเลือดหดตัว แหล่งข่าวระบุว่า เคยมีกรณีที่ผู้ป่วยซื้อยาไมเกรนรับประทาน แต่เนื่องจากมีอาการอย่างอื่นร่วม จึงเกิดผลต่อกันที่ทำให้เส้นเลือดแตก "สรุปว่าการจ่ายยาบางประเภท เช่น ยาไมเกรน ทางแพทยสภาไม่เห็นด้วยเลย เพราะต้องมีการวินิจฉัยก่อน เพราะเป็นยาที่มีความอันตราย" แหล่งข่าวระบุ
- อาการปัสสาวะแสบขัด แหล่งข่าวระบุว่า หากคนไข้มาหาแพทย์แล้วแพทย์จ่ายยาเลย โดยไม่ตรวจน้ำปัสสาวะ ถือว่าผิดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- อาการอื่นๆ ที่เห็นว่าควรต้องมีการพบแพทย์ เช่น อาการตกขาว อาการจากพยาธิ เป็นต้น
“เราไม่ปฏิเสธว่า คนไข้ในไทยมากมายมหาศาล และทาง สปสช. อยากให้คนไข้เข้าถึง แต่เรามีปัญหาว่า บางอาการ ไม่ใช่สิ่งที่จะจ่ายยาบรรเทาเบื้องต้น แม้ 3 วันก็ตาม”
สภาเภสัชกรรม: รศ.พิเศษ เภสัชกร (ภก.) กิตติกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่เห็นด้วยที่แพทย์จะหยิบเฉพาะบางจุดขึ้นมาอธิบายเป็นกรณีทั่วไป จึงควรดูที่ผลลัพธ์ของโครงการ พร้อมยืนยันว่าวิชาชีพเภสัชกรศึกษาเรื่องโรคมาเหมือนกัน รู้ว่าลักษณะไหนควรใช้ ไม่ควรใช้


นายกสภาเภสัชกรรมได้นำผลการดำเนินโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา จากการให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2565 จนถึง 21 พ.ค. 2567 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 1,791,930 คน จํานวนครั้ง 4,985,145 ครั้ง โดย 90% อาการหายหรือทุเลา ไม่พบกรณีที่ผู้เข้ารับบริการเกิดปัญหารุนแรง หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด


 

   รูป 4 GETTY IMAGES

4. การควบคุมความเสี่ยงต่อประชาชน
แพทยสภา: แหล่งข่าวจากแพทยสภาแสดงความกังวลว่า ระบบแพทย์ครอบครัวของประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศ โดยในต่างประเทศจะมีหมอครอบครัวดูแล 24 ชั่วโมง ดูแลหลังจากแพทย์จ่ายยา ทว่า ในประเทศไทยแม้มีการระบุว่าให้เภสัชกรติดตามอาการหลังจาก 3 วัน ให้ไปพบแพทย์ แต่เห็นว่าระบบส่งต่อผู้ป่วยของประเทศไทยไม่ได้มีความชัดเจนเท่าตัวอย่างในต่างประเทศ โดยเฉพาะระบบเจ้าของไข้ที่ส่งต่อจากร้านยาไปโรงพยาบาล


สภาเภสัชกรรม: นายกสภาเภสัชกรรมยืนยันว่า ภายใต้โครงการนี้มีระบบติดตามอาการประชาชนที่ไปรับบริการ หากไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ต้องส่งต่อไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิ


“เรากำหนดว่า 3 วัน (ร้านยา) ต้องติดตาม ถ้าไม่ติดตาม คุณเบิกเงินไม่ได้ มันเป็นการบังคับเลย ฉะนั้นจะบอกว่าเราไม่สนใจความปลอดภัยของผู้ป่วยคงไม่ใช่ เพราะกระบวนการเรามันชัดเจนอยู่แล้ว” ภก.กิตติกล่าวถึงการควบคุมร้านยาในโครงการนี้ทุกร้านที่เข้าร่วมต้องผ่านเกณฑ์การเป็นร้านยาคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 4,000 แห่ง


เภสัชกรกิตติได้อธิบายมาตรการควบคุมร้านขายยาอีกด้วยว่า ทุกร้านขายยาต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อทบทวนความรู้ และจะมีคู่มือสำหรับการอ้างอิงทบทวนความรู้การจ่ายยาว่าอาการแบบนี้เป็นอย่างไร กรอบยาที่ควรใช้ได้ และบัญชียาตามกฎหมายให้เภสัชกรจ่ายได้ ซึ่งในส่วนนี้จะมียากลุ่มที่ต้องรอแพทย์สั่ง เภสัชกรจะจ่ายเองไม่ได้


ส่วนในกระบวนการการดูแลคนไข้จะพิจารณาว่าหากลักษณะเป็นเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือเจ็บป่วยไม่มากจริง เภสัชกรดูแลได้ แต่ถ้าอาการมีความซับซ้อนเภสัชกรจะส่งแพทย์ทั้งหมด นอกจากนี้ทางสภาเภสัชกรรมยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วย หรือรีเฟอร์ (refer) จากร้านยาในโครงการไปยังสถานบริการทางการแพทย์ต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อยืนยันว่าเภสัชกรมีการคัดกรองผู้ป่วย


“เราไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าจ่ายยาตลอดแล้วไม่ส่งต่อไปพบแพทย์” ภก.กิตติระบุ


เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ มีอะไรบ้าง ?
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบบัตรทองฯ ปี 2560 ที่ได้มีข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพ เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเข้ารับบริการ


นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน พบว่ามีประชาชนซื้อยากินเองในระหว่าง 1 เดือน เมื่อมีการเจ็บป่วย คิดเป็น 17.6% และผลสำรวจของประชาชนในปี 2561 ยังพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่ใช้สิทธิบัตรทอง คือการรอรับบริการนานสูงถึง 51.9%


 

รูป 5 GETTY IMAGES


 


 


สำหรับการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ได้แก่
1. เวียนศีรษะ
2. ปวดศีรษะ
3. ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ
4. ปวดฟัน
5. ปวดประจำเดือน
6. ปวดท้อง
7. ท้องเสีย
8. ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร
9. ปัสสาวะแสบขัด
10. ตกขาว
11. แผล
12. ผื่นผิวหนัง
13. อาการทางตา
14. อาการทางหู
15. ไข้ ไอ เจ็บคอ
16. ติดเชื้อโควิด
17. น้ำมูก คัดจมูก
18. มีอาการแผลในปาก
19. ตุ่มน้ำใสที่ปาก
20. แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
21. อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ
22. อาการจากพยาธิ
23. อาการจากหิด เหา
24. ฝี หนองที่ผิวหนัง
25. อาการชา/เหน็บชา
26. อาการนอนไม่หลับ
27. เมารถ เมาเรือ
28. เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม
29. คลื่นไส้ อาเจียน
30. อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย
31. อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่
32. เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก


รศ.พิเศษ เภสัชกร (ภก.) กิตติกล่าวว่า แต่ละกลุ่มอาการจะมีตัวยา 2-3 ตัวให้เลือก เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่เหมาะกับบางตัวยา ซึ่งเภสัชกรต้องซักประวัติเพื่อพิจารณาว่าตัวยาใดเหมาะสม และแต่ละตัวยามีผลข้างเคียงใดบ้าง


สำหรับการจ่ายยากลุ่มนี้ รศ.พิเศษ เภสัชกร (ภก.) กิตติระบุว่า ยาตามแพทย์สั่งจะไม่อยู่ในกลุ่มยาของ 32 อาการนี้ เนื่องจากยาตามแพทย์สั่งมีกฎหมายควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น


“กลุ่มนี้จะไม่มีอยู่ในโครงการ เรามีการกำหนดชัดเจน เพราะเป็นกลุ่มยาที่ต้องการการกำกับดูแลเข้มงวด และส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ในโรงพยาบาลมากกว่า”


 


 


 

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/ckgvr9zy347o