จากการสำรวจด้านโภชนาการทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Research เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า การดื่มนมวัวที่ไม่ผ่านกระบวนการกำจัดไขมันใดๆ ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปมีผลทำให้เกิดความผันแปรในระดับน้ำหนัก เส้นรอบเอวและดัชนีมวลกาย (BMI) อีกทั้งยังอาจมีผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
โครงการ NHANES หรือ National Health and Nutrition Examination Survey ระหว่างปี ค.ศ.2001 ถึง ≥ 2018 รวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ โภชนาการ และข้อมูลประชากรผ่านการสัมภาษณ์และตรวจร่างกายจากการสุ่มตรวจ 43,038 คนทั่วประเทศสหรัฐฯ ตามระเบียบปฏิบัติด้านจริยธรรมที่เข้มงวด โดยประเมินผลของการบริโภคนมทั้งชนิดธรรมดาและนมปรุงแต่ง ประวัติการบริโภคนมได้รับการประเมิน 3 ช่วง (อายุ 5–12 ปี, 13–17 ปี และ 18–35 ปี) โดยใช้ข้อมูลที่รายงานด้วยตนเองในแบบสอบถาม ไม่ว่าจะเป็นบันทึกดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว น้ำหนักและเกณฑ์อื่นๆ รวมไปถึงการพยายามลดน้ำหนักและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ค่าน้ำหนักเกินกว่าปกติและเกณฑ์ถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วนถูกกำหนดให้ BMI อยู่ที่ ≥≥ 25 กก./ตร.ม. และ ≥30 กก./ตร.ม. ตามลำดับ จากนั้นข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยแบ่งตามอายุ เพศ และปัจจัยทางประชากรศาสตร์
นักวิจัยพบว่า การบริโภคนมที่ไม่ผ่านกระบวนการกำจัดไขมันมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับการเปลี่ยนแปลงของ BMI ระดับน้ำหนักและเส้นรอบเอวของคนส่วนใหญ่ในการสำรวจครั้งนี้ อัตราโรคอ้วนลดลง (-3.2%) ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การบริโภคนมประเภทนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อน้ำหนักตัวที่ดีต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงโรคอ้วนลงได้
โรคอ้วนเป็นปัญหาด้านสุขภาพระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคน และเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง เฉพาะในสหรัฐฯ มีผู้ใหญ่มากกว่า 42% เป็นโรคอ้วน ซึ่งก่อให้เกิดภาระด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่สำคัญ