ยาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ไม่ได้ผลในอาการปวดหลังและข้อเสื่อม

ScienceDaily

การศึกษาทบทวนหลักฐานจากรายงานวิจัยแสดงว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ไม่ได้ผลสำหรับอาการปวดหลังและโรคข้อเสื่อม แม้จะมีการใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาอาการเหล่านี้อย่างกว้างขวางก็ตาม
          ผลการค้นพบที่เผยแพร่ใน The BMJ ซึ่งอาศัยหลักฐานที่มีความแน่นอนปานกลาง แสดงว่า สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง ผลของยามีน้อยเกินไปไม่คุ้มค่า แต่สำหรับโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ผลดีที่มีเพียงเล็กน้อยยังต้องนำมาพิจารณาต่อไป
          ข้อแนะนำการปฏิบัติทางคลินิกส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสำหรับอาการปวดหลังและข้อสะโพกกับข้อเข่าเสื่อม (hip or knee osteoarthritis) ในระยะยาว (เรื้อรัง) แต่หลักฐานสนับสนุนการใช้ยายังไม่แน่นอน
          เพื่อแก้ไขช่องว่างของความรู้ดังกล่าว คณะผู้วิจัยที่นำโดย Giovanni Ferreira แห่ง University of Sydney ได้เริ่มการตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยารักษาโรคซึมเศร้าสำหรับอาการปวดหลังและอาการปวดจากข้อเสื่อมเปรียบเทียบกับยาหลอก
          ผลการค้นพบของคณะผู้วิจัยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม 33 การทดลอง ครอบคลุมผู้ใหญ่มากกว่า 5,000 คน ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างหรือคอ อาการปวดร้าวลงขา (sciatica เกิดจากความระคายเคืองหรือการถูกกดทับของเส้นประสาท sciatic nerve) หรือข้อสะโพก หรือข้อเข่าเสื่อม
          การทดลองดังกล่าวมีการออกแบบที่แตกต่างกัน และมีคุณภาพไม่เหมือนกัน แต่นักวิจัยสามารถยอมรับประเด็นนี้ในการวิเคราะห์ โดยข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการทดลองที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรม
          คณะผู้วิจัยได้กำหนดจุดคะแนนที่แตกต่างกัน 10 ตำแหน่ง บนมาตรวัดตั้งแต่ 0 ถึง 100 คะแนน เพื่อวัดอาการปวดหรือความพิการ เป็นความแตกต่างของค่าที่น้อยที่สุดระหว่างกลุ่ม อันเป็นเกณฑ์ที่ใช้กันทั่วไปในการศึกษาอื่น ๆ เกี่ยวกับอาการปวดเรื้อรัง
          ผลที่ได้รับแสดงว่า Serotonin - Norepinephrine Reuptake Inhibitors (SNRIs) ลดอาการปวดหลังลงหลังจากใช้ไป 3 เดือน แต่ให้ผลแค่เล็กน้อย โดยมีความแตกต่างเฉลี่ยเท่ากับ 5.3 คะแนน บนมาตรวัดอาการปวด เมื่อเทียบกับยาหลอก และไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเห็นว่ามีความสำคัญทางคลินิก
         สำหรับโรคข้อเสื่อมพบว่า ผลของยา SNRIs ต่ออาการปวดดีขึ้นเล็กน้อยหลังจาก 3 เดือน ความแตกต่างเฉลี่ยเท่ากับ 9.7 คะแนน บนมาตรวัดอาการปวด เมื่อเทียบกับยาหลอก แสดงว่า ผลดังกล่าวยังไม่สามารถตัดออกจากการพิจารณาได้
          หลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำได้แสดงให้เห็นว่า ยา Tricyclic Antidepressants (TCAs) ไม่มีประสิทธิผลสำหรับอาการปวดหลังและความพิการที่เกี่ยวข้อง
          ยา tricyclic antidepressants และ SNRIs อาจลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขา (sciatica) แต่มีหลักฐานไม่แน่นอนเพียงพอที่จะสรุปผลได้อย่างหนักแน่น
          คณะผู้วิจัยยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่จะพลาดการทดลองบางชิ้น และไม่สามารถตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดยาและการตอบสนองสำหรับยารักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ เพราะการศึกษาที่กระจายครอบคลุมยารักษาโรคซึมเศร้า 6 กลุ่มนั้น มีจำนวนน้อย
          อย่างไรก็ตาม การศึกษาทบทวนได้ใช้การสืบค้นอย่างละเอียดกับวรรณกรรมด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับความสำคัญทางคลินิกที่ใช้ในการศึกษาทบทวนอื่น ๆ เกี่ยวกับการรักษาอาการปวดหลังและปวดข้อเสื่อม
          ด้วยเหตุดังกล่าว คณะผู้วิจัยกล่าวว่า ในการศึกษาทบทวนจึงได้ปรับปรุงหลักฐานสำหรับอาการปวดหลัง การปวดร้าวลงขา (sciatica) และข้อเสื่อมให้ทันสมัย และสามารถช่วยแพทย์คลินิกและผู้ป่วยตัดสินใจได้ว่าจะใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสำหรับอาการปวดเรื้อรังหรือไม่
          แต่คณะผู้วิจัยสรุปว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการทดลองแบบสุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งปลอดจากการผูกพันกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสำหรับอากาปวดร้าวลงขา (sciatica) และอาการข้อเสื่อม ที่เน้นให้เห็นจากการศึกษาทบทวนครั้งนี้
          คณะผู้วิจัยที่ University of Warwick เรียกร้องให้มีข้อแนะนำที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางที่สอดคล้องกัน สำหรับการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าในผู้ที่มีปัญหาอาการปวด
          คณะทำงานยอมรับว่า ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะพยายามใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสำหรับโอกาสเล็กน้อยในการลดอาการปวดหลังจากผ่านไป 3 เดือน
          อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว นักวิจัยให้ความเห็นว่า การรักษาด้วยยา “ส่วนใหญ่ไม่ได้ผลสำหรับอาการปวดหลังและข้อเสื่อม และมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายรุนแรงได้ เราจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติดังกล่าวให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกับความเจ็บปวดโดยไม่ต้องพึ่งใบสั่งยา”