การศึกษาร่วมกันครั้งใหม่ของคณะผู้วิจัยที่ Geisel School of Medicine แห่ง Dartmouth และ University of Washington (UW) ซึ่งมีการเผยแพร่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) รายงานถึงความเข้าใจที่ชัดเจนและไม่ได้คาดคิดมาก่อนเกี่ยวกับการที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลต (ultraviolet: UV) แล้วทำให้อาการทางคลินิกในโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเอง เช่น โรคลูปัส (lupus) แย่ลงได้อย่างไร
โรคลูปัสเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการอักเสบของข้อต่อ ผิวหนัง ไต เซลล์เม็ดเลือด สมอง หัวใจ และปอดได้ โดยมีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อของตัวเอง
งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงว่า ในผู้ป่วยโรคลูปัสถึงร้อยละ 80 การสัมผัสกับแสงแดดสามารถกระตุ้นให้เกิดทั้งการอักเสบของผิวหนังเฉพาะบริเวณและอาการอักเสบกำเริบทั่วระบบร่างกายซึ่งรวมถึงโรคไตด้วย แต่เรายังมีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับกลไกเบื้องหลังที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการนี้
เพื่อให้รู้ว่าแสงยูวีกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของไตได้อย่างไร คณะทำงานวิจัยได้ศึกษาบทบาทของ neutrophil เซลล์เม็ดเลือดข่าวชนิดหนึ่งที่พบได้มากในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวตอบสนองตัวแรกต่อการอักเสบต่าง ๆ และมีความสัมพันธ์กับความเสียหายของผิวหนังและเนื้อเยื่อไตในผู้ป่วยลูปัส
ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ค้นหาตัวบ่งชี้การอักเสบและความเสียหายในผิวหนัง เลือด และไต ณ เวลาต่าง ๆ หลังจากให้แสงยูวีในหนูทดลอง และสามารถแสดงให้เห็นว่า neutrophil ไม่เพียงแค่แทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังที่ถูกแสงยูวี แต่ยังกระจายไปทั้งระบบไหลเวียนเลือดและรุกเข้าไปในไตอีกด้วย
“ที่น่าสนใจ คือ neutrophil กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าเป็นตัวที่อันตรายกว่า ได้เข้าไปในผิวหนังที่ถูกแสงยูวีก่อน จากนั้นจึงวนเวียนไปที่ไต” Dr. Sladjana Skopelja-Gardner ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ที่ Geisel ซึ่งทำการศึกษาครั้งนี้ร่วมกับ Keith Elkon MD ที่ UW กล่าว
“นั่นเป็นเรื่องผิดปกติเล็กน้อย โดยทั่วไปเราคิดว่า neutrophil เป็นเซลล์ที่อายุสั้น และมองหาตำแหน่งในร่างกายที่มีการอักเสบและไปตายที่ตรงนั้น"
นักวิจัยได้พบว่า การที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงยูวีเพียงครั้งเดียวสามารถกระตุ้นกระบวนการอักเสบและการบาดเจ็บในไตได้ รวมทั้งการพบโปรตีนในปัสสาวะชั่วคราว แม้แต่ในหนูทดลองที่สุขภาพแข็งแรง
“เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยปกติหนูทดลองที่สุขภาพดีไม่เป็นโรคไตในทางคลินิก ซึ่งคุณจะเห็นในผู้ป่วยโรคลูปัส” Dr. Skopelja-Gardner กล่าวอธิบายและบอกว่า “หนูจะมีอาการที่เราเรียกว่าการบาดเจ็บที่ไม่แสดงอาการ หมายความว่า มีกระบวนการอักเสบและบาดเจ็บเกิดขึ้นในไต ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ในทางพยาธิวิทยาหรือการดูที่เนื้อเยื่อเอง ต่อมาหนูทดลองฟื้นตัวจากการป่วยและไม่เป็นอะไร
“อย่างไรก็ตาม” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “การบาดเจ็บที่ไม่แสดงอาการอาจนำไปสู่ผลทางพยาธิวิทยาในสภาวะที่อ่อนไหวต่อการอักเสบซึ่งมีอยู่ก่อนในผู้ป่วยโรคลูปัส และนำไปสู่การกำเริบของโรคไตหลังจากสัมผัสกับแสงแดด”
ที่สำคัญ คือ ตัวบ่งชี้การอักเสบและบาดเจ็บที่คณะผู้วิจัยตรวจพบในไตของหนูทดลองหลังจากสัมผัสกับแสงแดดมีลักษณะคล้ายกันมากกับตัวบ่งชี้การบาดเจ็บของไต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเสียหายของไตที่รุนแรงกว่าในผู้ป่วยโรคลูปัส นอกจากนั้น การสัมผัสกับแสงยูวียังกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มักจะแสดงออกในผู้ป่วยโรคลูปัส คือ type 1 interferon response ทั้งที่ผิวหนังและไต
“โดยรวมแล้ว คิดว่าสิ่งที่งานวิจัยของเราแสดงให้เห็น คือ การที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงยูวีสามารถเป็นที่มาของวิถีการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคลูปัส และ neutrophil มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางที่ก่อโรคในกระบวนการนี้ ซึ่งทำให้ไตได้รับความเสียหาย” Dr. Skopelja-Gardner กล่าว
มุมมองใหม่ของการสัมผัสแสงแดดกับการเจ็บป่วยของไต
ScienceDaily