ยาฉีด "วิวัฒนาการยุคต่อไป" รักษาเอชไอวี

James Gallagher, BBC News

นักวิทยาศาสตร์ระบุวิวัฒนาการยุคต่อไปในการรักษาเอชไอวีว่า เราจะได้เห็นการฉีดยาแค่ 6 ครั้งต่อปี แทนการใช้ยาประจำวัน
          ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังทดสอบการฉีดยาที่ค่อยๆ ปล่อยยารักษาเอชไอวีแบบช้าๆ และต่อเนื่องเข้าไปในกระแสเลือด แต่ข้อมูลจากการทดลองขั้นแรกจากผู้ป่วย 309 คน แสดงว่าการฉีดยาทุกๆ เดือน หรือทุก 2 เดือน ได้ผลดีเท่าๆ กับยาเม็ดรายวัน ซึ่งเป็นวิธีให้ยาต้านไวรัสในปัจจุบัน
          มีการนำเสนอผลการทดลองครั้งนี้ต่อที่ประชุม IAS Conference on HIV Science
          การใช้ยาต้านไวรัสรายวันในปัจจุบันจะป้องกันไม่ให้เอชไอวีทำลายระบบภูมิคุ้มกันและหยุดการพัฒนาเป็นโรคเอดส์
          ความสำเร็จของการรักษาได้ทำให้อัตราการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคเอดส์ลดลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2005 อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี
          แต่การใช้ยาเป็นภาระที่ตกกับผู้ป่วย กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเมื่ออายุ 20 ปี จะต้องใช้ยาเอชไอวีตลอดชีวิตมากกว่า 20,000 เม็ด และในผู้ป่วยบางรายที่มีการต่อสู้ จะทำให้เชื้อเอชไอวีกลับมาและไวรัสเกิดการดื้อยาที่รักษา
          การทดลองครั้งนี้ดำเนินการในศูนย์ต่าง ๆ 50 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศสและสเปน
          เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ในตอนแรกจะได้รับการรักษาด้วยยารับประทานเพื่อดึงไวรัสให้มาอยู่ภายใต้การควบคุม จากนั้นจะใช้เวลา 96 สัปดาห์ ให้ยาประจำวันแบบเดิม หรือฉีดยารายเดือน หรือฉีดยาทุก 2 เดือน
          การศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ the Lancet  แสดงผลเมื่อสิ้นสุดการศึกษา ดังนี้
             •  ร้อยละ 84 ของผู้ป่วยที่รับประทานยารายวันยังยับยั้งไวรัสได้
             •  ร้อยละ 87 ที่รับการฉีดยาทุก 4 สัปดาห์
             •  ร้อยละ 94 ที่รับการฉีดยาทุก 8 สัปดาห์
          พบผลข้างเคียง ซึ่งรวมไปถึงอาการท้องร่วงและปวดศีรษะ เหมือนกันทุกกลุ่ม
          อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ยังเป็นการทดลองที่ค่อนข้างเล็กและการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นและใช้เวลานานขึ้นพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อยืนยันผลการศึกษา
          การศึกษาครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทผลิตยา คือ ViiV Healthcare ซึ่ง GSK ถือหุ้นใหญ่ และ Janssen ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Johnson & Johnson
          Dr. David Margolis หนึ่งในคณะผู้วิจัยจาก ViiV Healthcare กล่าวว่า “การติดยึดกับยายังคงเป็นปัญหาสำคัญในการรักษาเอชไอวี”
          “การใช้ยาเม็ดเดียวถือว่าเป็นการก้าวกระโดดในการบำบัดรักษาด้วยยาต้านไวรัส”
          “ส่วนการฉีดยาต้านไวรัสที่ให้ผลในระยะยาวอาจเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปในการบำบัดเอชไอวี ด้วยการให้ทางเลือกที่ล้อมกรอบภาระของการใช้ยารายวัน”
          บริษัทยากำลังบรรจุรวมยา 2 ชนิด (Cabotegravir กับ Rilpivirine) เข้าไปในอนุภาคนาโนขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งสามารถฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อได้  
          วิธีนี้จะให้การป้องกันระยะยาว ขณะที่อนุภาคนาโนแตกตัวและปล่อยตัวยาเข้าไปในร่างกาย
          มีผู้ป่วย 36.7 ล้านคน ที่ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก และมีเพียงร้อยละ 53 ที่เข้าถึงยาในปัจจุบัน
          ในการศึกษาทบทวนงานวิจัย ศาสตราจารย์ Mark Boyd และศาสตราจารย์ David Cooper จากมหาวิทยาลัย Adelaide และ New South Wales ตามลำดับ ให้ความเห็นว่า “การศึกษานี้แสดงถึงขั้นตอนวิวัฒนาการที่น่าสนใจในการบำบัดเอชไอวี”
          อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ทั้ง 2 ได้เตือนว่า บางคนอาจเห็นว่าการใช้ยาเม็ดประจำวันง่ายกว่าที่จะต้องไปหาแพทย์เพื่อรับการฉีดยาทุกเดือน หรือทุก 2 เดือน
          “หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียระหว่างความสะดวกที่ไม่ต้องติดกับยารับประทานกับความไม่สะดวกสบายจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ให้ผลระยะยาวซึ่งใช้วิธีการฉีดยา”
          “เป็นไปได้ว่า ยาต้านไวรัสที่สามารถฉีดได้จะดึงดูดความสนใจได้มากกว่า”