
ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงนำนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ประสบความสำเร็จในการวิจัย และพัฒนายาชีววัตถุรักษามะเร็ง “ทราสทูซูแมบ” โดยไม่ใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นับเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของประเทศไทย โดยนักวิจัยไทย เพื่อคนไทย โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2568 ในชื่อ “HERDARA”
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มะเร็งมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในคนไทย และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยารักษามีราคาแพง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลต่อปัญหาสุขอนามัยของประชาชน ทรงมุ่งมั่นและทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาโดยตลอด ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนในการเข้าถึงยาชีววัตถุที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค เพราะมีราคาสูงมาก โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง จึงทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานการพัฒนายาชีววัตถุภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ” โดยโปรดให้นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระดมสมองในการคิดค้นและพัฒนายาชีววัตถุที่ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล และสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางยา และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเพียรพยายามเพื่อการพัฒนายาอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงมีพระปณิธานที่จะทำวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุเพื่อสร้างนวัตกรรม โดยไม่อาศัยการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานที่ทรงสร้างขึ้นนี้ จะเป็นฐานในการพัฒนายาชีววัตถุใหม่ได้หลากหลายชนิดต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อประเทศโดยรวม
ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงประกาศความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง “ทราสทูซูแมบ” ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นยาชีววัตถุตัวแรกของไทย

จากความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งสามารถทำให้คนไทยเข้าถึงยารักษามะเร็งได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นยาที่ผลิตในประเทศ สมดั่งพระปณิธานของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างบุคลากรในการพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุ ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง
ที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
ที่มารูปภาพ : สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์