ยาชีววัตถุอาจช่วยรักษาโรคหืดรุนแรงได้

Randy Dotinga, HealthDay News

ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า "ยาชีววัตถุ” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อรักษาโรคหืดรุนแรง ช่วยลดอัตราการกำเริบร้ายแรงได้ประมาณ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับยาหลอก
          ถ้าผ่านการพิสูจน์แล้ว ยา tezepelumab จะอยู่ในกลุ่มยาราคาแพงที่ช่วยบรรเทาอาการได้เมื่อไม่มียาอื่นสำหรับระงับปัญหาทางเดินหายใจได้
         “ยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อมีการพัฒนายาใหม่หลายชนิดสำหรับผู้ป่วยโรคหืดรุนแรง” Dr. Elisabeth Belศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ทางเดินหายใจที่ University of Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าว
         “ทำนองเดียวกับสิ่งที่เกิดกับโรคปวดข้อรูมาตอยด์  ฉันคาดว่าในอีกไม่กี่ปีจะมียารักษาที่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยโรคหืดรุนแรงเกือบทุกคน” Dr. Bel ผู้เขียนให้ความเห็นสำหรับรายงานชิ้นใหม่
         การวิจัยครั้งใหม่ได้รับทุนสนับสนุนจากผู้พัฒนายา Amgen and Medimmune ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AstraZeneca
         โรคหืดเป็นโรคปอดเรื้อรังชนิดหนึ่ง  Dr. Bel บอกว่า ผู้ป่วยโรคหืดประมาณร้อยละ 15 ไม่สามารถควบคุมโรคนี้ด้วยยาสูดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้
         “ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการโรครุนแรงจากการอักเสบของทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุของการหายใจลำบากและการทนการออกกำลังกายได้น้อยหรือเหนื่อยง่ายอย่างต่อเนื่อง” Dr.Bel กล่าว  อาการนี้ยังทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงกับการกำเริบรุนแรง ซึ่งจะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาล เธอกล่าวเพิ่มเติม
         ยาฉีด tezepelumab เป็น โมโนโคลนัล แอนติบอดี (monoclonal antibody)  ยาประเภทนี้ช่วยผู้ป่วยโรคหืดรุนแรงหลายคน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  เพราะโรคหืดมีหลายชนิด เธอกล่าวอธิบาย
         การศึกษาครั้งใหม่นำเสนอการวิจัยระยะที่ 2 จาก 3 ระยะ ซึ่งจำต้องทำก่อนที่ยาจะได้รับความเห็นชอบในสหรัฐอเมริกา  คณะผู้วิจัยต้องการทราบถึงผลของยา tezepelumab ที่มีต่อผู้ป่วยโรคหืดซึ่งมีอาการโรคหืดกำเริบอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลใน 1 ปีที่ผ่านมา หรืออาการกำเริบ 2 ครั้ง ที่ผลักดันให้แพทย์ต้องเพิ่มระดับยาสูงขึ้น
         ผู้ป่วยโรคหืดรุนแรง 584 คน ที่อยู่ในการศึกษานี้ไม่สูบบุหรี่  อายุระหว่าง 18 ถึง 75 ปี ซึ่งใช้ยาสูดรักษาโรคหืด มีการสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มใช้ยาขนาดต่ำ  ขนาดปานกลาง หรือขนาดสูง หรือให้ใช้ยาหลอก
         คณะผู้วิจัย พบว่า ผู้ที่ใช้ยามีอาการกำเริบของโรคหืดซึ่งต้องไปโรงพยาบาลหรือเปลี่ยนขนาดยาในอัตราส่วนที่น้อยกว่าผู้ที่ใช้ยาหลอก ร้อยละ 61 ถึงร้อยละ 71
         Dr. Rene van der Merwe ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา กล่าวว่า  “ยา tezepelumab ยังแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ดีขึ้นของปอดสำหรับทุกขนาดยา  ภาวะที่ดีขึ้นในการควบคุมโรคหืดในกลุ่มที่ใช้ยาขนาดปานกลางและสูง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกกลุ่มที่ได้รับยาเมื่อเทียบกับยาหลอก
         การศึกษา “ไม่ได้เปิดเผยถึงความกังวลใจต่อความปลอดภัยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้” van der Merwe กล่าว ผู้ป่วยร้อยละ 62 กับร้อยละ 66 ในกลุ่มต่าง ๆ ที่รายงานว่ามีผลข้างเคียง และระหว่างร้อยละ 9 กับร้อยละ 12 รายงานว่ามีผลข้างเคียงรุนแรง
         คณะผู้วิจัยรายงานผลข้างเคียงรุนแรงของผู้ป่วย 2 กรณี  โรคหลอดเลือดสมองและโรคปอดอักเสบ 1 คน  และGuillain-Barre syndrome อีก 1 คน ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคปอดอักเสบเสียชีวิต
         Dr. Bel กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดรุนแรงจะทรมานมาก “ผู้ป่วยเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่แย่มากและมีความยากลำบากในการทำหน้าที่และไม่สามารถไปทำงานได้”
         เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ป่วยเหล่านี้หลายคนต้องใช้ยา corticosteroids ชนิดรับประทาน คือ ยา prednisone เป็นประจำทุกวันและต้องทรมานกับผลข้างเคียงที่รุนแรง  และผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่ออาการกำเริบที่รุนแรงของโรคหืด การเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต
         เธอเขียนให้ความเห็นว่า “ยา tezepelumab เป็นยาชีววัตถุ (biologic) ที่ใช้กว้างขวางที่สุดและให้ความหวังมากที่สุดสำหรับการรักษาโรคหืดต่อเนื่องที่ไม่ได้รับการควบคุมจนถึงปัจจุบัน”
         ยาจะปิดกั้นโมเลกุลที่เป็นหัวใจสำคัญในการเกิดอาการบวมในทางเดินหายใจ Dr. Bel กล่าว
         “และดังนั้น จึงมีประสิทธิผลต่อโรคหืดประเภทย่อยๆ ที่ไม่เหมือนกัน”
         ผลที่ตามมา คือ “โอกาสที่ยาจะได้ผลในผู้ป่วยโรคหืดเรื้อรังมีสูงกว่ายา monoclonal ที่มีอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเป็นยาที่เจาะจงต่อผู้ป่วยโรคหืดชนิดใดชนิดหนึ่ง
         มีการเผยแพร่การศึกษาครั้งนี้ใน  The New England Journal of Medicine