แอสไพรินสลายลิ่มเลือดได้ดีเหมือนยาราคาแพงหลังผ่าเปลี่ยนข้อกระดูก

การทดลองทางคลินิกครั้งใหม่ แสดงว่า แอสไพรินยาเก่าคุณภาพดีมีประสิทธิผลเหมือนยาราคาแพงที่ใหม่กว่าในการป้องกันลิ่มเลือดหลังจากการเปลี่ยนข้อสะโพก หรือข้อเข่าเทียม
          คณะผู้วิจัย กล่าวว่า ผลการค้นพบสามารถเปลี่ยนแปลงความเคยชินในการสั่งยาของแพทย์บางคนได้
          หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือสะโพกเทียม ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในขาหรือปอด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาป้องกันลิ่มเลือดระยะหนึ่งหลังจากนั้น
          ขณะนี้แพทย์บางคนเลือกใช้ยาสลายลิ่มเลือดที่มีฤทธิ์แรงอย่าง dabigatran (Pradaxa) และ rivaroxaban (Xarelto) Dr. David Anderson ผู้นำนักวิจัยในการทดลองครั้งใหม่ กล่าว
          แต่ยังไม่ชัดเจนว่ายาตามใบสั่งยาที่มีราคาแพงจะดีกว่ายาแอสไพรินราคาถูกที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว  Dr. Anderson แห่ง Dalhousie University ใน Halifax ประเทศแคนาดา กล่าวอธิบาย
          จากข้อมูลการค้นพบครั้งใหม่ ปรากฏว่ายาควบคุมตามใบสั่งยาไม่ได้ให้ผลดีกว่ายาแอสไพริน
          ในการศึกษาครั้งนี้มีผู้ป่วยไม่กี่คนเกิดลิ่มเลือดหลังการผ่าตัด และผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินมีอาการดีเหมือนกับผู้ที่ใช้ยา rivaroxaban
          สิ่งที่ Dr. Anderson เตือนไว้ คือ ผู้ป่วยในการศึกษาครั้งนี้ทุกคนได้รับยา rivaroxaban ในช่วง 5 วันแรก หลังการผ่าตัด  หลังจากนั้นอาจจะได้รับยานี้ต่อไปหรือเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพรินอีก 9 – 30 วัน
          “จากการศึกษาครั้งนี้ เราไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้เริ่มใช้ยาแอสไพรินในวันแรก” Dr. Anderson กล่าว แต่หลังจากวันที่ 5  “มีเหตุผลอย่างมากที่จะพิจารณาเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพริน” เขากล่าวเพิ่มเติม
          ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ศัลยแพทย์ได้เปลี่ยนจากยาสลายลิ่มเลือดที่มีฤทธิ์แรงไปใช้ยาแอสไพรินและทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การใช้ยาในการป้องกันลิ่มเลือด  Dr. Alejandro Gonzalez Della Valle ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมสะโพกและข้อเข่าที่ Hospital for Special Surgery ในนิวยอร์ก กล่าว
          ในปัจจุบันนี้ผู้ป่วยโดยทั่วไปมีความเสี่ยงต่ำต่อภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลังการเปลี่ยนข้อสะโพก หรือข้อเข่าเทียมด้วยเหตุผลหลายประการ  ได้แก่ ระยะเวลาผ่าตัดที่ลดลง และการใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่แทนยาสลบที่ใช้ทั้งระบบร่างกาย
          เราสามารถป้องกันลิ่มเลือดได้ด้วยการเพิ่มการไหลเวียนเลือดในขาของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด  ดังนั้น การให้ผู้ป่วยยืนขึ้นและเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มแรกถือเป็นหัวใจสำคัญ  Dr. Gonzalez Della Valle อธิบายและกล่าวว่า ในทำนองเดียวกัน สามารถใช้อุปกรณ์ pneumatic compression ในการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในบริเวณขา ขณะที่ผู้ป่วยอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล
          Dr. Kevin Bozic โฆษกของ American Academy of Orthopaedic Surgeons (AAOS) กล่าวว่า ข้อแนะนำของ AAOS ระบุว่า ไม่มียาชนิดไหนดีกว่ากันในการป้องกันลิ่มเลือด
          “การศึกษาครั้งนี้สนับสนุนความคิดดังกล่าว”  Dr. Kevin Bozic กล่าว
          เขาเห็นด้วยว่า ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ได้หันไปใช้ยาแอสไพรินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเวลาในการฟื้นตัวสั้นลงและผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้นมาก  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ได้แค่ยาแอสไพริน แต่บางคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อลิ่มเลือด คือ ผู้ที่มีประวัติลิ่มเลือด ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยาสลายลิ่มเลือด Dr. Bozic บอก
          “กลยุทธ์ในการป้องกันลิ่มเลือดควรครอบคลุมการใช้ยาและการเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มต้น” เขาเน้นย้ำ
          การศึกษาครั้งใหม่ครอบคลุมผู้ป่วยมากกว่า 3,400 คน ที่ได้รับการเปลี่ยนข้อสะโพก หรือข้อเข่าเทียม ในโรงพยาบาลประเทศแคนาดา 15 แห่ง  ผู้ป่วยทุกคนได้รับยา rivaroxaban (วันละ 1 เม็ด) เป็นเวลา 5 วัน  หลังจากนั้น ได้สุ่มให้ใช้ยานี้ต่อไปหรือเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพรินในขนาดยาที่ต่ำ (81 มิลลิกรัมต่อวัน)
          ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใช้ยาเป็นเวลา 9 วัน  ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมใช้ยาเป็นเวลา 30 วัน
          ในช่วงเวลา 3 เดือน มีเพียงร้อยละ 0.6 ของผู้ป่วยที่ใช้ยาแอสไพรินเกิดลิ่มเลือดรุนแรงจนทำให้เกิดอาการ และอาการนี้เกิดขึ้นกับร้อยละ 0.7 ของผู้ป่วยที่ใช้ยา rivaroxaban ตามที่ปรากฏในรายงาน
          ความเสี่ยงต่อยาป้องกันลิ่มเลือดประการหนึ่ง คือ ทำให้เกิดเลือดออก เช่น ในกระเพาะอาหาร  หรือในสมอง
          คณะผู้วิจัย รายงานว่า ในการทดลองครั้งนี้ ประมาณร้อยละ 1 ของผู้ป่วยในทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการเลือดออก โดยในทุกกรณีมีอาการเลือดออก ณ จุดผ่าตัด
          ไม่ปรากฏว่ายาชนิดไหนมีสรรพคุณดีกว่ากัน แต่ยาแอสไพรินมีความได้เปรียบบางประการที่ชัดเจนกว่า Dr. Anderson ระบุ
          “ยาแอสไพรินไม่ต้องมีใบสั่งยาและราคาไม่แพง”
          สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาแอสไพรินขนาดยาต่ำก่อนที่จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก หรือข้อเข่าเทียม เป็นอย่างไร
          ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ป่วยเหล่านี้ได้ยาแอสไพรินเพิ่มเป็น 2 เท่าของขนาดปกติแค่ชั่วคราวหลังผ่าตัด แต่ Dr. Anderson บอกว่า ไม่มีหลักฐานว่าวิธีนี้มีประสิทธิผลมากกว่าในการป้องกันลิ่มเลือด
          “ดังนั้น เรามีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปรับประทานยาแอสไพรินขนาดปกติ แทนที่จะเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า”
          โดยทั่วไป Dr.Gonzalez Della Valle กล่าวว่า ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก หรือข้อเข่าเทียม ควรคุยกับศัลยแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงส่วนบุคคลต่อการเกิดลิ่มเลือด และมาตรการที่จะใช้เพื่อลดปัญหานี้
          การทดลองครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดา  และมีการเผยแพร่ผลการศึกษาใน New England Journal of Medicine