ผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกกำลังจะขาดแคลนอินซูลิน

Soutik Biswas, BBC News

นักวิทยาศาสตร์ชี้ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกที่เป็นโรคเบาหวานอาจไม่สามารถเข้าถึงอินซูลินได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป  โดยการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพและโรคอ้วนทำให้มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เพิ่มสูงขึ้น และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรที่เป็นโรคนี้อยู่ในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
          ประชากรประมาณ 400 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา อายุ 20 ถึง 79 ปี เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดของโรคเบาหวานที่เป็นกันมากที่สุด  คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะขยับขึ้นไปถึงมากกว่า 500 ล้านคน ภายในปี 2030 (อีกประเภทหนึ่ง คือ โรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 ร่างกายจะโจมตีเซลล์ตับอ่อนของตนเองซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน)
          การศึกษาครั้งใหม่ซึ่งรายงานในวารสาร Lancet Diabetes and Endocrinology กล่าวว่า จะมีประชากรที่เป็นโรคเบาหวานเกือบ 80 ล้านคน ต้องการใช้อินซูลินภายในปี 2030  โดยคาดว่าความต้องการยาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ณ ตอนนั้น  แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาส่วนใหญ่อาจอยู่ในเอเชียและแอฟริกา จะไม่สามารถเข้าถึงอินซูลินที่พวกเขาต้องการ
          Dr. Sanjay Basu จาก Stanford University สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย กล่าวว่า “นอกจากเรื่องราคาแล้ว การเข้าถึงยังหมายถึงซัพพลายเชนจะต้องพร้อมที่จะจัดการและกระจายยาที่แช่เย็นได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งปริมาณของวัสดุต่าง ๆ อย่างเช่น เข็มปลอดเชื้อและกระบอกฉีดยาจะต้องมาพร้อมกับยา”
          ทำไมอินซูลิน ยาซึ่งมีอายุ 97 ปี และถือว่าเป็นหนึ่งใน “ยาที่น่าพิศวง” ของศตวรรษที่ 20 ยังคงมีราคาแพงมาตลอดหลาย ๆ ปี
          นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่ง คือว่า บริษัทข้ามชาติ คือ Novo Nordisk, Eli Lilly and Company และ Sanofi ควบคุมร้อยละ 99 ของมูลค่าตลาดอินซูลินทั่วโลกซึ่งมีทั้งหมด 21 พันล้านดอลลาร์ และร้อยละ 96 ของปริมาณยา
          และถึงแม้ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 90 จาก 132 ประเทศ จะไม่เก็บภาษีศุลกากรกับอินซูลินก็ตาม แต่ยานี้ยังคงมีราคาแพงสำหรับหลายคน (ภาษี  การบวกกำไรเพิ่ม และค่าซัพพลายเชนอื่น ๆ ได้ผลักให้ราคายาสูงและส่งผลร้ายต่อความสามารถในการซื้อยา)
          แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ค่าใช้จ่ายสำหรับอินซูลินยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 89 ระหว่างปี 2000 และ 2010 และนี่เป็นความจริงสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ประกันชีวิต ราคายาได้เพิ่มขึ้นจากหลอดละ 40 ดอลลาร์ เป็น 130 ดอลลาร์  ปกติแต่ละหลอดจะใช้ได้ 2 – 3 สัปดาห์ อย่างมากที่สุด
          ยังมีคำถามเกี่ยวกับความพร้อมในการจำหน่ายในตลาด
          การควบคุมตลาดอินซูลินทั่วโลก ตามที่ David Henri Beran จาก Geneva University Hospitals และUniversity of Geneva กล่าว หมายถึงว่า ประเทศต่าง ๆ มีซัพพลายเออร์จำนวนไม่มากที่จะให้เลือก “และปัจจัยนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนชนิดของอินซูลินที่ใช้ เพราะบริษัทถอนสูตร (บางสูตร) ออกจากตลาด”
          มียาอินซูลินหลายชนิดและแพทย์จะสั่งยาชนิดที่ให้ประโยชน์มากที่สุดกับผู้ป่วย โดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย การเลือกวิธีใช้ชีวิตประจำวัน อายุของผู้ป่วย เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือด และจำนวนการฉีดยาในแต่ละวัน
          ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางหลายประเทศมีความหวั่นไหวต่อปัญหาการติดขัดชะงักงันของปริมาณยา  การศึกษาเกี่ยวกับความพร้อมในการจำหน่ายอินซูลิน พบว่า มีปริมาณซัพพลายต่ำใน 6 ประเทศ คือ บังกลาเทศ บราซิล มาลาวี เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา  การบริหารที่บกพร่องและการจัดจำหน่ายที่ขาดประสิทธิภาพยังนำไปสู่ปัญหาการติดขัดในประเทศโมแซมบิค ตัวอย่างเช่น  ร้อยละ 77 ของปริมาณอินซูลินทั้งหมดยังอยู่ในเมืองหลวง ส่งผลให้พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศขาดแคลนยา
          “โดยรวมทั่วโลก ปัญหาความสามารถในการซื้อและความพร้อมในการจำหน่ายอินซูลินเป็นเรื่องที่คุกคามชีวิตและท้าทายต่อแนวความคิดของสิทธิด้านสุขภาพ” Dr. Beran กล่าว
          ดังนั้น ทำไมยาที่นักวิทยาศาสตร์ 2 คน แห่ง University of Toronto ได้ค้นพบเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว ถึงยังไม่มีจำหน่ายในตลาดในฐานะยาสามัญราคาถูก (นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ได้ขายสิทธิบัตรให้กับมหาวิทยาลัยในราคา 1 ดอลลาร์)  ปกติยาที่มีความต้องการสูงจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นหลังจากสิทธิบัตรหมดอายุแล้ว เพราะจะมีคู่แข่งที่เป็นยาสามัญราคาถูก  แต่นั่นไม่ใช้สำหรับกรณีนี้
          Jeremy A Greene และ Kevin Riggs นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของเรื่องนี้ คือ อินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์มีชีวิตมีความซับซ้อนและทำสำเนาได้ยากกว่า และบริษัทยาสามัญไม่คิดว่าอินซูลิน “คุ้มค่า” ที่จะทำเช่นนั้น  ยาชีววัตถุคล้ายคลึงอินซูลิน (biosimilar insulin) ยังมีจำหน่ายในตลาดและมีราคาที่แข่งขันกันมากกว่า แต่ไม่มีรุ่นที่เป็นยาสามัญ
          นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ควรรวมอินซูลินไว้ในแพ็คเกจกลุ่มยาเพื่อสุขภาพสากลและกองทุนหรือผู้ให้ทุนโรคเบาหวานควรจัดสรรส่วนหนึ่งของเงินทุนสำหรับนวัตกรรมเพื่อให้การรักษาพยาบาลและยา
          ระบบสุขภาพที่อ่อนแอ ความบกพร่องในการเข้าถึงแหล่งบริการสุขภาพ การให้การรักษาพยาบาลโรคเบาหวาน และการกำหนดราคาล้วนขัดขวางการเข้าถึงอินซูลิน
          “จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไข รวมไปถึงเรื่องของราคาและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการกระจายยา” Dr. Basu กล่าวและว่า ยาฉีดอินซูลินจะไม่สามารถเข้าถึงได้ในเร็ววันจนกว่าจะถึงตอนนั้น

พื้นฐานโรคเบาหวาน
          - มีโรคเบาหวาน 2 ชนิดหลัก คือ ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และยังมีชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
          - ในโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 ซึ่งโดยทั่วไปจะวินิจฉัยได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร  ผู้ป่วยต้องรับการฉีดอินซูลิน ไม่ว่าจะฉีดด้วยมือหรือผ่านการปั๊ม  โรคนี้ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาด และไม่ได้เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน
          - ผู้ป่วยจะเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ถ้าอินซูลินที่ผลิตออกมาทำงานไม่ถูกต้อง หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ  โรคนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินหรือการไม่ออกกำลังกาย และยังเกี่ยวข้องกับประวัติในครอบครัวด้วย  โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 พบได้มากกว่าชนิดที่ 1  ครอบคลุมถึงประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 บางคนใช้อินซูลิน บางคนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยา การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
          - การไม่ควบคุมกลูโคสในเลือดในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท  ไต ตา และเท้า  แต่สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้ได้ด้วยการรักษาและการดูแลที่ถูกต้อง

ภาพที่ 1:  ประชากรที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
ภาพที่ 2:  ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 บางคนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
ภาพที่ 3:  ประชากร 33 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับอินซูลินยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้