FDA ผ่านยารักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ตัวใหม่ล่าสุด ทดลองแล้วมีประสิทธิภาพกว่ายาตัวอื่น โจมตีเป้าหมายแพ็คคู่

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) พิจารณาอนุมัติ Mounjaro (tirzepatide) ยาชนิดฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 เพิ่มเติมจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย FDA รับรองว่า Mounjaro มีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และมีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาโรคเบาหวานตัวอื่น ๆ ที่มีในตลาดหลังจากการวิจัยทดลองได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้ว
          โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตหรือใช้ฮอร์โมนอินซูลินไม่ปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง แม้ว่าจะมียารักษาในท้องตลาดมากมาย แต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยยังคงไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมได้
          ทั้ง glucagon-like peptide-1 (GLP-1) และ glucose-dependent insulinotropic polypeptide (GIP) เป็น ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบไฮเดรต และ Mounjaro เป็นยาที่กระตุ้นให้ตัวรับ (receptors) ของฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ทำงาน ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ผู้ป่วยเพียงฉีดยาตัวนี้สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น
                                                                
ผลการทดลอง
          Mounjaro ทั้ง 3 ขนาน กล่าวคือ 5 มิลลิกรัม 10 มิลลิกรัม และ 15 มิลลิกรัม ได้รับการทดสอบทางการแพทย์ 5 ครั้ง ทั้งแบบใช้โดด ๆ หรือแบบใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่น และเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ Mounjaro กับยาหลอก (placebo)
          ผลการทดลองพบว่า คนไข้ที่มาจากการสุ่มเลือกให้ใช้ Mounjaro ขนาด 15 มิลลิกรัม โดยเฉลี่ยแล้วทำให้ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด หรือฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbA1c) ลดลงได้มากกว่ายาหลอก 1.6% เมื่อใช้โดด ๆ และลดลงมากกว่ายาหลอก 1.5% เมื่อใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์ยาว (long-acting insulin) ได้แก่ ยา Semaglutide, Insulin degludec และ Insulin glargine
          ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบ Mounjaro กับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่น ๆ นั้น ได้ผลว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Mounjaro ขนาด 15 มิลลิกรัม ทำให้ฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbA1c) ลดลงมากกว่ายา Semaglutide 0.5% ลดลงมากกว่ายา Insulin degludec 0.9% และลดลงมากกว่ายา Insulin glargine 1.0%

ผลข้างเคียง
          Mounjaro อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก และปวดท้อง นอกจากนี้ การทดลองกับหนูยังพบเนื้องอกที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ในหนูด้วย แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า Mounjaro ก่อให้เกิดเนื้องอกนั้นหรือไม่ หรือจะทำให้เกิดมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ในคนหรือไม่ จึงแนะนำว่าผู้ป่วยที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ไม่ควรใช้ Mounjaro

ข้อมูล:
https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-approves-novel-dual-targeted-treatment-type-2-diabetes