FDA ผ่านยาแก้ PONV ช่วยคนไข้หลังผ่าตัด

Aponvie (aprepitant) ยารักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด (PONV) สูตรให้ทางหลอดเลือดดำตัวแรกและตัวเดียวในตลาดได้รับการอนุมัติจาก FDA แล้ว เพิ่มทางเลือกที่สะดวกขึ้นและดีขึ้นกับแพทย์และผู้ป่วยมะเร็งและโรคอื่นที่ต้องรับการผ่าตัดในการจัดการกับ PONV อาการที่พบทั่วไปหลังการผ่าตัดซึ่งเป็นผลของยาสลบ
          Aponvie เป็นยา NK1 receptor antagonist ขนาด 32 mg ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (IV injection) 30 วินาที มีจุดเด่นด้านการให้ผลเร็วและฤทธิ์ยาคงอยู่นาน นั่นหมายถึงยาจะเข้าไปที่ตัวรับในสมองถึง 97% หลังจากให้ยาทางเส้นเลือดเพียง 5 นาทีเท่านั้น และคงความเข้มข้นในพลาสมานานไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง
          องค์ประกอบสำคัญของการอนุมัติจาก FDA คือ ผลการทดลองทางคลินิกแบบ multicenter, randomized, double-blind 2 ตัว ซึ่งเปรียบเทียบ Aponvie กับ Zofran ยารักษาอาการ PONV ที่ได้รับการรับรองจาก FDA ตั้งแต่ปี 1991 แล้ว และเป็นยามาตรฐานการรักษาอีกตัวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จากการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่า มีคนไข้น้อยลงราว 50% ที่อาเจียนหลังการผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก เมื่อรักษาด้วย Aponvie โดยที่ความปลอดภัยยังคงอยู่ดังเดิม
          นอกจากนี้ ข้อมูลจากการทดลองเฟส 1 ยังชี้ด้วยว่า Aponvie ขนาด 32 mg นี้มีชีวสมมูลของยา (bioequivalent) เทียบเท่ากับยาป้องกัน PONV แบบรับประทานขนาด 40 mg
          ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ Aponvie นั้น มีอาการท้องผูก ความดันเลือดต่ำ เพลีย และปวดศีรษะ ส่วนอาการแพ้รุนแรงนั้น คนไข้อาจมีอาการหายใจหรือกลืนน้ำหรืออาหารลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ตา หน้า ลิ้น คอบวม หน้าหรือผิวแดง ลมพิษ ผื่นแดง หรืออาการคัน วิงเวียน หัวใจเต้นเร็วหรือช้า
          ทั้งนี้ แต่ละปีมีการผ่าตัดในสหรัฐฯ กว่า 36 ล้านครั้ง และ Heron บริษัทผู้ผลิต Aponvie กล่าวว่า คนไข้ราว 80% เสี่ยงต่อภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด (PONV) ซึ่งบริษัทมียาป้องกันภาวะนี้ในตลาดแล้ว 2 ตัว คือ Cinvanti (FDA อนุมัติในปี 2017) และ Sustol (FDA อนุมัติในปี 2016) และ PONV เป็นภาวะที่คนไข้ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นผลการผ่าตัดที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด เพราะทำให้ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น นอกจากนี้ อาการ PONV ยังนับเป็นความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วยนอก เนื่องจากจะถูกปล่อยตัวภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ซึ่งเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็จะไม่มียาแก้อาเจียนที่มีประสิทธิภาพรับประทาน



ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://bit.ly/3LtGwQT
https://bit.ly/3BxSGmS