Omlonti เพิ่มทางเลือกหมอในการรักษาต้อหิน

บางคนอาจจะคุ้นเคยกับยาหยอดตา Omlonti กันแล้ว เพราะวางขายทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 แต่ขายในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วด้วยชื่อ Eybelis แต่เพิ่งได้รับการรับรองจาก FDA ในเดือนกันยายน 2022
          Omlonti เป็นยาหยอดตารักษาต้อหิน มี Omidenepag isopropyl เป็นตัวยาออกฤทธิ์ ซึ่งเป็น prostaglandin EP2 receptor agonist ที่ไปเพิ่มการระบายน้ำในลูกตา จึงช่วยลดความดันและลดความเสียหายที่จะเกิดกับประสาทตาซึ่งทำให้ตาบอดได้
          ประสิทธิภาพของ Omlonti ได้รับการยืนยันจากการทดลองทางคลินิกแบบ randomized and controlled 3 ชุด ที่ผู้ร่วมการทดลองเป็นต้อหินมุมเปิด (Primary open-angle glaucoma: POAG) หรือมีความดันตาสูง (ocular hypertension) โดยที่เส้นฐานความดันในลูกตา (baseline IOP) อยู่ที่ 24-26 mm Hg และรับการรักษาแบบอำพราง 2 ฝ่ายนาน 3 เดือน ในการทดลองทั้ง 3 ตัว แต่ตัวที่ 3 มีการรักษาแบบเปิดระยะเวลา 9 เดือน หลังการรักษาแบบอำพราง 3 เดือนสิ้นสุดลงด้วย
          ในการทดลองทั้ง 3 งาน พบว่า IOP ลดลงด้วยการใช้ Omlonti รักษา IOP 5-7 mm Hg ขณะที่กลุ่มที่รักษาด้วย Timolol และ Latanoprost IOP ลดลง 5-7 mm Hg และ 6-8 mm Hg ตามลำดับ
          ด้านความปลอดภัยได้รับการยืนยันจากการวิจัยทางคลินิก 12 งาน โดยที่ 10 งาน เป็นการทดลองแบบใช้วันละครั้ง และผลจากกลุ่มผู้ร่วมการทดลองผู้ใหญ่ 1,111 คน เด็ก 6 คน ชี้ว่า Omlonti มีความปลอดภัย และปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุดจากการใช้ Omlonti คือ เยื่อบุตาขาวแดง ภาวะตาแพ้แสง ตาพร่ามัว ตาแห้ง ตาเจ็บ ระคายเคืองดวงตา กระจกตาอักเสบ ความบกพร่องทางการมองเห็น และปวดศีรษะ
          ทั้งนี้ ต้อหินเป็นโรคตาที่ทำลายประสายตา ทำให้คนไข้มองไม่เห็น เป็นสาเหตุหลักของอาการตาบอดที่แก้ไขไม่ได้ เนื่องจากโรคนี้ลุกลามเร็ว การตรวจพบตั้งแต่แรกและรักษาแต่เนิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ และการลดความดันในลูกตาก็เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการทำลายเส้นประสาทตาที่ดีที่สุด ปัญหาคือ POAG ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการอะไรมากนอกจากตามัว ทำให้คนไข้ไม่คิดว่าเป็นอะไรมากและปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามเป็นปัญหาแก้ยาก
          ในปี 2020 มีผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลก 76 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2030 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 95 ล้านคน โดย POAG เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด และมีความอันตรายสูงเพราะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด รู้แต่อายุเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และอาจพบในคนที่มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เวลาอาการเริ่มแรกปรากฏ เช่น ตามัว คนไข้ควรไปรับการคัดกรองจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา


ข้อมูล:
https://bit.ly/3SCZvLD