Sunlenca เพิ่มโอกาสหาย ผู้ป่วยเชื้อ HIV

ยาต้านไวรัส antiretroviral ตัวใหม่ที่ FDA เพิ่งอนุมัติมีชื่อว่า Sunlenca (lenacapavir) เพิ่มความหวังให้กับผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัส ชนิด 1 ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง (เชื้อ HIV-1) เนื่องจากยาที่มีในตลาดก่อนหน้านี้ไม่สามารถรักษาผู้ติดเชื้อ HIV-1 ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพราะร่างกายไม่รับหรือทนต่อยาได้ หรือเพราะปัจจัยความปลอดภัยอื่น ๆ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับ Sunlenca โดสแรกไปก็สามารถใช้ยาต่อได้ด้วยการฉีด 6 เดือน/ครั้ง ซึ่งเป็นความสะดวกสำหรับผู้ป่วย


                Sunlenca เป็นยาตัวแรกในตระกูล capsid inhibitor ที่ FDA อนุมัติ โดยมีกลไกการทำงานด้วยการสกัดกั้นเปลือกโปรตีนของไวรัส HIV-1 (the capsid) ซึ่งไปรบกวนขั้นตอนสำคัญหลายขั้นตอนในรอบชีวิต (lifecycle) ของไวรัส ทำให้ไม่สามารถสร้างตัวขึ้นมาใหม่ได้


                โดสแรกของการใช้ Sunlenca เป็นยาเม็ดรับประทานและฉีดเข้าใต้ผิวหนังในเวลาเดียวกัน จากนั้นจะเป็นการฉีดอย่างเดียวทุก ๆ  6 เดือน โดยให้ใช้ร่วมกับยา antiretroviral ตัวอื่น


                ส่วนความปลอดภัยและประสิทธิภาพของ Sunlenca นั้น ได้รับการยืนยันด้วยผลการทดลองทางคลินิกแบบ multicenter กับผู้ป่วย 72 คน ที่ติดเชื้อ HIV และร่างกายต่อต้านยารักษาเชื้อ HIV หลายขนาน โดยผู้สมัครที่ร่วมการทดลองต้องมีไวรัสในเลือดระดับสูงแม้จะใช้ยา antiretroviral ก็ตาม


                การทดลองแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นการทดลอง double-blind แบบสุ่ม ให้ Sunlenca ส่วนหนึ่งและยาหลอกอีกส่วนหนึ่ง อีกกลุ่มเป็นการทดลองแบบเปิดด้วย Sunlenca แล้วดูสัดส่วนของผู้ป่วยในกลุ่มสุ่มว่าในระยะเวลา 14 วัน มีสัดส่วนของคนที่ระดับไวรัสลดลงถึงจุดที่กำหนดเท่าไรเมื่อเทียบกับเส้นฐาน (baseline) ซึ่งได้ผลว่า 87.5% ของผู้ป่วยที่สุ่มให้ใช้ Sunlenca นั้นเชื้อไวรัสลดลง เทียบกับ 16.7% ของคนที่สุ่มให้ใช้ยาหลอก


                ผลการทดลองยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของยาว่า หลังจาก 26 สัปดาห์ ที่ใช้ Sunlenca ร่วมกับยา antiretrovial ตัวอื่น 81% ของผู้ป่วยในกลุ่มแรกนี้สามารถควบคุม HIV RNA ได้ถึงระดับที่เชื้อ HIV ต่ำจนถือว่าไม่พบเชื้อแล้ว (undetectable) และผลนี้คงอยู่ใน 83% ของผู้ร่วมการทดลองหลังจาก 52 สัปดาห์


                ส่วนอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ Sunlenca ที่พบมากที่สุด คือ อาการบริเวณที่ฉีดยาและอาการคลื่นเหียนวิงเวียน บริเวณที่ฉีดยานั้นอาจพบอาการบวม เจ็บ หรือแดง และมีคำเตือนว่า อาการบวมนั้นหากแข็งเป็นก้อนขึ้นมาอาจคงอยู่ระยะหนึ่งในผู้ป่วยบางราย


                นอกจากนี้ มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอักเสบจากภาวะฟื้นตัวของระบบภูมิคุ้มกัน (immune reconstitution syndrome) ซึ่งเกิดขึ้นเวลาที่ระบบภูมิคุ้มกันแสดงปฏิกิริยามากเกินไป (immune system overreacts) หลังจากรับการรักษา HIV ทั้งยังมีโอกาสที่ยา Sunlenca ตกค้างอยู่ในร่างกายนานถึง 1 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่ยาต้านไวรัสไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสได้อีกต่อไป