การศึกษาครั้งใหม่แสดงว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดใหม่ซึ่งประสบความสำเร็จในการรักษาโรคปลอกประสาทในสัตว์ ให้ความหวังสำหรับการรักษาในมนุษย์
คณะผู้วิจัยที่ Thomas Jefferson University ในฟิลาเดลเฟียกำลังศึกษายาที่ป้องกันระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้โจมตีไมอีลินชีท (myelin sheath) ซึ่งเป็นชั้นเยื่อป้องกันที่หุ้มรอบเซลล์ประสาท
ในโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis: MS) ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีระบบประสาทส่วนกลางด้วยการโจมตีที่ไมอีลินชีท
ตามผลการศึกษา แม้ว่าการรักษาวิธีนี้จะขัดขวางการตอบสนองของภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune) แต่จะปล่อยให้ระบบภูมิคุ้มกันส่วนที่เหลือทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
“นี่คือข้อได้เปรียบอย่างมากของวิธีที่เจาะจงต่อแอนติเจน (antigen) ที่เหนือกว่าวิธีการรักษาในปัจจุบัน” Dr. Abdolmohamad Rostami ผู้เขียนรายงานอาวุโส ซึ่งเป็นประธาน Department of Neurology ที่ Sidney Kimmel Medical College แห่ง Thomas Jefferson University กล่าว
“มีแอนติเจนมากมายที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในไมอีลินชีท แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ เราไม่ทราบว่าส่วนประกอบไหนของไมอีลินที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในผู้ป่วย MS” Dr. Rostami อธิบาย
“การศึกษาก่อนหน้านี้ได้ใช้ไมอีลินแอนติเจนเดี่ยวหรือแอนติเจนผสม เพื่อป้องกันภูมิต้านทานตนเองในสัตว์ทดลอง แต่ในมนุษย์นักวิจัยยังมีความสำเร็จที่จำกัด”
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยให้ความสนใจกับเซลล์ oligodendrocytes ซึ่งจะห่อเยื่อหุ้มเซลล์ของมันไว้รอบเซลล์ประสาทเพื่อผลิตเยื่อหุ้มไมอีลีนชีท นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บถุงเล็ก ๆ ที่เรียกว่า extracellular vesicles (EVs) ซึ่งได้จากเซลล์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาเหล่านี้ นักวิจัยเชื่อว่า EVs เหล่านี้บรรจุไมอีลินแอนติเจนทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะสามารถหยุดการโจมตีของภูมิต้านทานตนเองต่อไมอีลิน
“สิ่งที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับ EVs เหล่านี้ คือ EVs ให้เรามีโอกาสในการรักษาโรคด้วยวิธีที่เจาะจงต่อแอนติเจน โดยไม่ต้องทราบถึงเอกลักษณ์ที่แน่นอนของแอนติเจนเป้าหมาย” Dr.Rostami กล่าวในข่าวเผยแพร่ของมหาวิทยาลัย
คณะผู้วิจัยได้ฉีด EVs เหล่านี้เข้าไปในหนูทดลอง 3 ตัวอย่างที่แตกต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อ MS ทั้งระยะเริ่มแรกและระยะท้าย และรายงานว่า EVs ป้องกันการเกิดอาการต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น ความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ลดลงและอัมพาต เมื่อให้ก่อนที่จะเกิดโรค รวมทั้งช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อให้ในภายหลัง
การที่วิธีนี้ใช้ได้ผลในตัวอย่างหนูที่แตกต่างกัน แสดงว่าสามารถใช้วิธีนี้เป็นการรักษาทั่วไปได้ Dr.Rostami กล่าว อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาในสัตว์ไม่ได้ขยายมาใช้ในมนุษย์ได้เสมอไป
นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขายังสามารถแยก EVs จากเซลล์ของมนุษย์ได้อีกด้วย และพบว่า EVs นี้มีไมอีลีนแอนติเจนจำนวนมาก ตามผลการศึกษามีความเป็นไปได้ว่า EVs เหล่านี้จะให้ผลการรักษาเหมือนกันในผู้ป่วย
Dr.Rostami และคณะทำงานกำลังดำเนินการยื่นขอสิทธิบัตรวิธีใช้ EVs ทางหลอดเลือดดำ การศึกษาครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ใน Science Translational Medicine