Tocilizumab อีกหนึ่งความหวังในการรักษา COVID-19 ลดอัตราเสียชีวิตในคนไข้ที่มีอาการรุนแรงลงได้ถึง 45%

Tocilizumab ยาชีวภาพ recombinant humanized monoclonal antibody ที่ปัจจุบันมีข้อบ่งใช้หลักสำหรับรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ร่วมเป็นหนึ่งในความหวังสำหรับการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง  โดยหนึ่งในสองการศึกษาใหม่ล่าสุดพบว่า tocilizumab ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ด้วยการยับยั้ง interleukin-6 (IL-6) receptor สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจลงได้ถึง 45%
    ผลลัพธ์จาก 2 การศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ยาชีวภาพ tocilizumab ซึ่งเป็น recombinant humanized monoclonal antibody ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ด้วยการยับยั้ง interleukin-6 (IL-6) ที่เป็น inflammatory protein มีศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะ cytokine storm ที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะหายใจล้มเหลว (respiratory failure) ในคนไข้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญในคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
    การศึกษาแรก คือ Tocilizumab for treatment of mechanically ventilated patients with COVID-19 ดำเนินการโดย ดร.พญ. Emily Somers ภาควิชาอายุรศาสตร์ของ School of Public Health, University of Michigan ในสหรัฐอเมริกา และคณะ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ tocilizumab ใน single-center cohort ของคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 154 ราย ที่ถูกส่งตัวเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Michigan ในช่วงวันที่ 9 มีนาคม ถึง วันที่ 20 เมษายน 2563 โดยมีเป้าประสงค์หลักของการศึกษาอยู่ที่อัตรารอดชีวิตโดยรวมหลังใส่ท่อช่วยหายใจ (survival probability post-intubation) ส่วนเป้าประสงค์รองหลัก ๆ คือ 6-level ordinal scale of illness severity ที่ 28 วันของการศึกษา ซึ่งรวมถึง bloodstream infection และ pneumonia
    เกณฑ์คัดเข้าที่สำคัญ ๆ ของการศึกษานี้ ได้แก่ ต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ต้องมีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 เป็นบวกจากการตรวจด้วยเทคนิค reverse-transcriptase polymerasechain reaction และคนไข้ต้องมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากถูกส่งตัวเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Michigan หรือภายใน 24 ชั่วโมง ของการเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งนี้ โดยคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จำนวน 78 ราย  ได้รับการรักษาด้วย tocilizumab (standard tocilizumab dose was 8 mg/kg; maximum 800 mg) 1 โด๊ส ด้วยการหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ส่วนคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจอีก 76 ราย ไม่ได้รับการรักษาด้วย tocilizumab    
    ผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสาร Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 จากการติดตามคนไข้เป็นเวลาเฉลี่ย 47 วัน พบว่า ที่ 28 วันของการศึกษา 18% ของกลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab เสียชีวิตลง เทียบกับ 36% ของกลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab โดย tocilizumab สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจลงได้ถึง 45% (hazard ratio [HR], 0.55 (95% confidence interval [CI], 0.33 to 0.90) แต่พบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab มีอัตราของ superinfection สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ คือ 54% เทียบกับ 26% ของกลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab และโดยรวมแล้ว คนไข้ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีความเสี่ยงของการเกิด superinfection อยู่ที่ 39% โดย superinfection ส่วนใหญ่ในทั้ง 2 กลุ่ม คือ Staphylococcus aureus อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของ 28-day death rate ระหว่างกลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab ที่มีหรือไม่มี superinfection เกิดขึ้น และกลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab ที่มีหรือไม่มี superinfection เกิดขึ้น (8 จากทั้งหมด 37 ราย [22%] เทียบกับ 6 จากทั้งหมด 41 ราย [15%] ตามลำดับ; p = 0.42)
    ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab มี improvement on a six-point ordinal scale of illness severity ดีกว่ากลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab (odds ratio [OR], ~0.6; p ≤ 0.03) in inverse probability weighting models นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab มี discharge rate สูงกว่า คือ 56% เทียบกับ 40% ของกลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดช่วง follow-up period พบว่า 18% กลุ่มคนไข้ที่ได้รับ tocilizumab ยังต้องอาศัยท่อช่วยหายใจอยู่ต่อไป เทียบกับ 47% ของกลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับ tocilizumab
    ส่วนอีกการศึกษาหนึ่ง คือ Safety and Efficacy of Anti-IL6-Receptor Tocilizumab Use in Severe and Critical Patients affected by Coranavirus Disease 2019: A Comparative Analysis ซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสาร Journal of Infection เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เป็นการศึกษาในอิตาลี โดยนายแพทย์ Roberto Rossotti หน่วยโรคติดเชื้อของโรงพยาบาล Niguarda Hospital ในเมือง Milan ของอิตาลี และคณะ โดยเป็นการศึกษาแบบ retrospective, single-center analysis ในคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง จำนวน 74 ราย ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล Niguarda ในช่วงวันที่ 13 มีนาคม ถึง วันที่ 3 เมษายน 2563 และได้รับการรักษาด้วย tocilizumab เปรียบเทียบกับคนไข้ที่เป็น matched controls จำนวน 148 ราย ที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ (standard of care)
    ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วย tocilizumab มี improved survival ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม matched controls (hazard ratio, 0.49; 95% CI, 0.26 to 0.95; p = 0.035) อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วย tocilizumab มี hospital stays ยาวนานกว่ากลุ่ม matched controls (hazard ratio, 1.66; 95% CI, 1.08 to 2.52; p = 0.019) โดยเมื่อสิ้นสุดช่วง follow-up พบว่า 35% ของคนไข้จำนวนทั้งหมด 74 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วย tocilizumab มี clinical deterioration ในแง่ของ mechanical ventilation requirements หรือ death ในขณะที่ 65% มี stable disease หรือ improved
    ขณะเดียวกันพบว่าในช่วง 7 วัน หลังจากได้รับการรักษาด้วย tocilizumab คนไข้ส่วนใหญ่มีระดับ C-reactive protein ซึ่งบ่งชี้ถึงการมี inflammation ลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ระดับของ leukocyte และ lymphocyte white blood cells และระดับของ platelets เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
    สำหรับยาตัวอื่น ๆ ที่มีผลการศึกษาออกมาแสดงให้เห็นถึงการเป็นความหวังสำหรับคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยเช่นกันนั้น ในระหว่างการประชุม International AIDS Conference ครั้งที่ 23 (เป็นการประชุมเสมือนจริงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 - 9 กรกฎาคม 2563 โดย International AIDS Society (IAS) ดร.นพ. Andrew Hill ในฐานะ senior visiting research fellow ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย Liverpool ในสหราชอาณาจักร ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้ยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ในการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนหนึ่งในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ 4 แห่งของอิหร่าน พบว่า การใช้ยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir มีผลลัพธ์ในแง่ของ recovery rate ที่ดีกว่า และ hospital stay ที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน (standard of care) ที่ประกอบด้วย hydroxychloroquine ร่วมด้วยหรือไม่ร่วมด้วย lopinavir/ritonavir

     ดร.นพ. Andrew Hill รายงานว่า คนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 66 ราย ที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ 4 แห่งในอิหร่าน ถูกสุ่มให้ได้รับการรักษาด้วย standard of care เพียงอย่างเดียว จำนวน 33 ราย ขณะที่อีก 33 ราย ถูกสุ่มให้ได้รับการรักษาด้วยยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care เป็นเวลา 14 วัน (14-day treatment course) ผลการศึกษาเบื้องต้นว่า 14 วันหลังการรักษา คนไข้ 29 ราย (88%) ในกลุ่มที่ได้รับ sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care ประสบความสำเร็จในการมี clinical recovery เทียบกับ 22 ราย (67%) ในกลุ่มที่ได้รับ standard of care เพียงอย่างเดียว (p = .076) ขณะเดียวกัน พบว่ากลุ่มคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการรักษาด้วย sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care มีระยะเวลาของการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นกว่า คือ 6 วัน เทียบกับ 8 วัน ของกลุ่มคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการรักษาด้วย standard of care เพียงอย่างเดียว และกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วย sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care ยังสามารถฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่า คือโดยเฉลี่ย 6 วัน เทียบกับ 11 วันของกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วย standard of care เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคนไข้เสียชีวิต 3 ราย ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care เทียบกับ 5 ราย ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย standard of care เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รุนแรงใด ๆ จากการรักษาด้วย sofosbuvir/daclatasvir ร่วมกับ standard of care
    ดร.นพ. Andrew Hill กล่าวย้ำว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวของการใช้ยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ในการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นและจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการศึกษาที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ในการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 โดยได้กำหนดเครือข่ายของการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มขึ้นมาแล้วว่าจะมีการศึกษาการใช้ยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ในคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมากกว่า 2,000 ราย ในบราซิล อียิปต์ แอฟริกาใต้และอิหร่าน และคาดว่าน่าจะได้เห็นผลลัพธ์ของการใช้ยาสูตรผสมของ sofosbuvir/daclatasvir ในการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จากการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่ในราวเดือนตุลาคมปีนี้