Metformin อาจป้องกันสมองเสื่อมถอยตามอายุได้

Serena Gordon, HealthDay News

ยา metformin ที่นิยมใช้กับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจให้ผลข้างเคียงในทางบวกที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยงานวิจัยครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้ยานี้ชะลออาการเสื่อมของความสามารถในการคิดและความจำตามอายุที่มากขึ้นลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
    “การศึกษาของเราเป็นเวลา 6 ปีกับคนออสเตรเลียสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา metformin กับการเสื่อมถอยที่ช้าลงของความสามารถในการคิดและอัตราสมองเสื่อมที่น้อยลง” Dr. Katherine Samaras ผู้นำการเขียนรายงานกล่าว เธอเป็นผู้นำงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่วัยชราด้วยสุขภาวะที่ดี ที่ Garvan Institute of Medical Research ในนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
    “ผลการค้นพบได้ให้ความหวังใหม่สำหรับวิธีการที่จะลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวา
นชนิดที่ 2 และอาจจะรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานด้วย” Dr. Samaras กล่าว
    ยา metformin ช่วยให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น  เป็นยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน ซึ่งจะช่วยนำน้ำตาลภายในเซลล์ร่างกายไปใช้เป็นพลังงาน โดยในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถใช้อินซูลินให้เกิดประสิทธิผล ที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน
    “อย่างไรก็ตาม ยา metformin ยังส่งผลอื่นๆ ต่อเซลล์ ซึ่งช่วยให้เซลล์รักษาเมทาบอลิซึมที่ดีต่อสุขภาพ” Dr. Samaras อธิบาย
    Dr. Samaras บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญคิดว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือภาวะดื้ออินซูลินอาจมีบทบาทต่อการเสื่อมถอยของสมองและเนื้อเยื่อประสาท รวมทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือด  ด้วยการส่งเสริมการทำงานของอินซูลินให้ดีขึ้น ยา metformin อาจช่วยยับยั้งความเสียหายนี้ได้บางส่วน
    การศึกษาครั้งนี้ได้ติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษามากกว่า 1,000 คน เป็นเวลา 6 ปี  ในตอนเริ่มต้นการศึกษา อาสาสมัครทุกคนอยู่กับบ้านและไม่มีสัญญาณของโรคความจำเสื่อม  ทุกคนจะได้รับการทดสอบทางประสาทจิตวิทยา (neuropsychological test) ตามลำดับขั้นตอนทุกๆ 2 ปี
    ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษา 123 คนเป็นโรคเบาหวาน และมี 67 คนกำลังใช้ยา metformin
    คณะผู้วิจัยพบว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและไม่ได้ใช้ยา metformin มีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 5 เท่าที่จะเป็นโรคความจำเสื่อมระหว่างดำเนินการศึกษา
    นักวิจัยกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การศึกษาครั้งแรกที่แสดงว่า ยา metformin มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อโรคความจำเสื่อม  ในการศึกษาอื่นๆ ได้พบความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกัน  ผู้เขียนรายงานมุ่งศึกษาว่า ยาสามารถช่วยความเสื่อมถอยในเรื่องความจำและความสามารถในการคิดในกลุ่มผู้สูงวัยได้หรือไม่
    ขณะนี้ Dr. Samaras และคณะผู้ร่วมงานได้วางแผนทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีการควบคุมเป็นเวลา 3 ปีกับยา metformin ในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคความจำเสื่อม
    “การศึกษาของเราได้ให้หลักฐานเริ่มต้นที่น่าเชื่อถือว่า ยา metformin อาจป้องกันความเสื่อมถอยของความสามารถในการคิด และการทดลอง (ครั้งใหม่) จะแสดงให้เห็นว่า ยา metformin สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมถอยของความสามารถในการคิดในผู้สูงอายุให้กว้างออกไปอีกได้หรือไม่”
    ยา metformin เป็นยาที่ราคาไม่แพงและมีผลข้างเคียงน้อยมาก Dr. Samaras กล่าว  ผลข้างเคียงของยานี้ อย่างเช่น ปัญหาการย่อยอาหาร มักเกิดขึ้นระหว่าง 2-3 สัปดาห์แรกที่ใช้ยาและหลังจากนั้นจะลดน้อยลง
    ผลการค้นพบนี้มีการเผยแพร่ใน Diabetes Care
    ด้าน Heather Snyder รองประธานแพทย์และวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ที่ Alzheimer's Association กล่าวว่า แม้จะไม่ใช่การศึกษาครั้งแรกที่แสดงถึงผลที่ดีต่อสมองของยา metformin แต่การศึกษาครั้งนี้เป็นการติดตามประชากรจำนวนมากและเป็นกลุ่มประชากรที่แตกต่างออกไปเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบคำถามนี้  จึงน่าสนใจเสมอที่ได้เห็นผลอย่างเดียวกันในกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน