เป็นที่ทราบกันดีว่าการรักษาโรคด่างขาวมีหลายวิธี เช่น การใช้ยาทา (corticosteroids, calcineurin inhibitors, calcipotriol) การฉายแสงอาทิตย์เทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายเม็ดสี โดยการเลือกการรักษาขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคสำหรับการรักษาใหม่ที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ มีดังนี้
Bimatoprost
เป็นยากลุ่ม Prostaglandin analog ใช้ในการรักษาผู้ป่วยต้อหิน พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) รวมถึงยับยั้งเซลล์ที่ทำลายเซ็ลล์สร้างเม็ดสี มีการศึกษานำร่องในผู้ป่วยด่างขาวเฉพาะที่ (localized vitiligo) 10 ราย โดยใช้ ยาหยอดตา Bimatoprost ความเข้มข้น 0.03% 1 หยดต่อพื้นที่รอยโรค 2 ตารางเซนติเมตร ทาวันละ 2 ครั้ง นาน 4 เดือน พบว่าผู้ป่วย 7 ใน10 รายมีเม็ดสีขึ้นใหม่ (Repigmentation) โดยใบหน้าเป็นบริเวณที่ตอบสนองดีที่สุด ผลข้างเคียงที่พบคือ อาการแสบร้อนหลังทา (Tarun Narung, World congress of dermatology, 2011)
ยา Afamelanotide ร่วมกับการฉายแสงอาทิตย์เทียมอัลตราไวเลตบีชนิดคลื่นแคบ (Narrowband UVB)
Afamelanotide เป็น alpha-MSH analog ที่ออกฤทธิ์แรงและนานขึ้นกว่า natural alpha-MSH ยานี้ออกฤทธิ์โดยจับกับ MC1R บนผิวของเซ็ลล์สร้างเม็ดสีและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีตามมา ยานี้เป็นยาฝังใต้ผิวหนังโดยฝังบริเวณเหนือต่อ iliac crest มีการศึกษานำร่องผู้ป่วยโรด่างขาวชนิดกระจาย (generalized vitiligo) 4 ราย โดยได้รับ alfamelanotide 16 mg ฝังใต้ผิวหนังเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมด 4 ครั้ง ร่วมกับฉายแสง Narrowband UVB 3 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีสีผิวกลับคืน (repigmentation) ที่เร็วขึ้นและเข้มขึ้น โดยผลข้างเคียงที่พบคือ คลื่นไส้ อ่อนเพลียและสีผิวปกติคล้ำขึ้น (JAMA Dermatol 2013;149:68-73) อย่างไรก็ดีเนื่องจากยานี้เป็นกลุ่มใหม่ที่ยังมีการศึกษาน้อย คงจะต้องติดตามผลข้างเคียงในระยะยาวต่อไป
ยาใหม่สำหรับการรักษาโรคด่างขาว
พญ. นฤมล ศิลปอาชา
ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล