วิตามินเป็นกุญแจแก้ปวดของสตรีหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

HealthDay News

รายงานการศึกษาครั้งใหม่แสดงว่า ผู้หญิงสูงวัยที่มีระดับวิตามินดีต่ำอาจมีอาการเจ็บปวดภายหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมากกว่าคนที่มีระดับสารอาหารเพียงพอ
          วิตามินดีเป็นส่วนสำคัญของอาหารและมีประโยชน์ต่อการปกป้องโรคกระดูกและการดูแลรักษาความแข็งแรงของเนื้อเยื่ออ่อน
          การที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนพร่องลง การไม่ออกกำลังกายและการไม่ได้รับแสงแดดมีความเกี่ยวโยงกับภาวะพร่องวิตามินดีในผู้หญิงระยะก่อนหมดประจำเดือน ในระหว่างก่อนจะหมดประจำเดือนรังไข่จะค่อย ๆ เริ่มผลิตเอสโตรเจนน้อยลง และวัยหมดประจำเดือนจะตามมาในอีกไม่กี่ปี
          ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออาการเจ็บปวดภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมดในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่ทำกันทั่วไปและปลอดภัย แต่ผู้หญิงหลายคนมีอาการเจ็บปวดในภายหลัง
          ผู้เขียนรายงานการศึกษาได้สรุปว่า ภาวะพร่องวิตามินดี การสูบบุหรี่ และดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ที่สูง เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่ออาการปวดขนาดปานกลางถึงรุนแรงหลังจากการผ่าตัด
          “ผลการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นโอกาสสำหรับแพทย์ที่จะแก้ไขปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่ผู้หญิงระยะหลังหมดประจำเดือนจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า” Dr. Stephanie Faubion ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แห่ง North American Menopause Society กล่าวในข่าวเผยแพร่ของสมาคม
          นักวิจัยยังพบอัตราของภาวะพร่องวิตามินดีที่สูง (ร้อยละ 67) ในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนที่มีกำหนดจะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด
          รายงานดังกล่าว โดย Dr. Yu Song แห่ง Shanghai Tenth People's Hospital ซึ่งอยู่ในเครือข่าย School of Medicine แห่ง Tongji University ประเทศจีน และคณะผู้ร่วมงาน ได้รับการเผยแพร่ใน Menopause: The Journal of the North American Menopause Society
          ผลการศึกษาครั้งนี้ได้เพิ่มหลักฐานให้กับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่เชื่อมโยงภาวะขาดวิตามินดีกับการพัฒนาของโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis) ตะคริว ภาวะปวดกระดูก การเดินลำบาก ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และกระดูกหัก
          ผู้เขียนรายงานเสนอว่า งานวิจัยดังกล่าวสามารถช่วยให้แพทย์ประเมินผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนก่อนที่จะผ่าตัดข้อเข่าได้
           ภาวะพร่องวิตามินดีเป็นปัญหาสำคัญของประชากรทั่วโลก ผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 60 มีระดับวิตามินที่ไม่เพียงพอ คณะผู้วิจัยกล่าว