งานทบทวนวิจัยครั้งใหม่ให้ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับไมเกรน แสดงให้เห็นทางเลือกในการบรรเทาอาการปวดมากกว่าที่ผ่านมา
ในการวิเคราะห์การศึกษาที่เผยแพร่แล้วมากกว่า 100 ชิ้น คณะผู้วิจัยพบว่า มียาหลายกลุ่มที่แสดงถึงหลักฐานที่ดีว่าสามารถบรรเทาอาการปวดของโรคไมเกรนที่กำลังมีอาการอยู่
ยาเหล่านี้บางชนิดเพิ่งออกมาให้ใช้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยไมเกรนที่ไม่สามารถบรรเทาได้เพียงพอด้วยยาที่มีอยู่เดิม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การรักษาไมเกรนขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการใช้อุปกรณ์กระตุ้นประสาทด้วยเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
“การมีทางเลือกใหม่ ๆ ในปัจจุบันที่ได้ผลในการรักษา ถือว่าเป็นข่าวดีมาก” Dr. Rebecca Burch แพทย์ประสาทวิทยาที่ Brigham and Women's Hospital ในบอสตัน กล่าว
เธอบอกว่า สำหรับผู้ป่วยคนไหนก็ตาม การค้นหายารักษาที่เหมาะสมอาจต้องลองผิดลองถูกบ้าง ดังนั้น การอดทนสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจสำคัญ
“ต้องพยายามต่อไป อย่าหมดหวัง” Dr.Burch กล่าวและว่า “ถ้ายาชนิดแรกไม่ได้ผล นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มียาอะไรใช้ที่ได้ผลอีกแล้ว”
Dr. Burch เป็นผู้ร่วมเขียนบทบรรณาธิการท้ายรายงานทบทวนงานวิจัยใน Journal of the American Medical Association
การวิเคราะห์ครั้งนี้ ซึ่งทบทวนการศึกษาทดลองทางคลินิก 115 ชิ้น และงานทบทวนหลักฐานก่อนหน้านี้ 15 ชิ้น ได้นำเสนอข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุด Dr. Juliana VanderPluym ผู้นำการเขียนรายงานกล่าว
“กว่า 3 ปีที่ผ่านมา มียารักษาไมเกรนใหม่ ๆ ออกมาหลายชนิด” Dr. VanderPluym ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยาที่ Mayo Clinic ใน Scottsdale รัฐแอริโซนา กล่าว
ยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาชนิดรับประทาน lasmiditan (Reyvow) ซึ่งทำปฏิกิริยากับตัวรับสำหรับฮอร์โมน serotonin และยากลุ่ม "gepant" 2 ขนาน คือ ยา ubrogepant (Ubrelvy) และยา rimegepant (Nurtec)
ยา gepant จะรบกวน CGRP ซึ่งโปรตีนขนาดเล็กที่ trigeminal nerve หลั่งออกมา และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทุกข์ทรมานจากไมเกรน
การศึกษาทบทวนได้พบหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุนยารักษาไมเกรนระยะยาว ได้แก่ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) เช่น ibuprofen (Advil, Motrin) และ aspirin และกลุ่มยารักษาไมเกรนโดยเฉพาะที่เรียกว่า triptan
ยาทั้งหมดที่กล่าวมาให้ผลดีกว่ายาหลอกในการลดอาการปวด แต่ส่วนใหญ่ ยา triptan ยังเป็นทางเลือกอันดับ 1ในการรักษาไมเกรนเฉียบพลัน Dr.Burch กล่าว
ยา triptan ออกฤทธิ์โดยมีเป้าหมายที่ serotonin (ในลักษณะที่แตกต่างจากยา lasmiditan) โดยมักจะมีประสิทธิผลต่ออาการปวดตื้อ แต่ข้อเสียของยานี้ คือ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองไม่สามารถใช้ยานี้ได้
สำหรบผู้ป่วยอื่นบางคน Dr.Burch กล่าวว่า ยา triptan จะไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียง อย่างเช่น อาการชา มึนศีรษะ และง่วงนอน ทำให้ใช้ยาได้ยาก ทั้งยากลุ่ม gepant และยา lasmiditan มีราคาแพง Dr.VanderPluym กล่าว
ดังนั้น แผนประกันภัยมักต้องการให้ผู้ป่วยลองใช้ยา 2 ขนานของกลุ่ม triptan ก่อนจะไปถึงยาที่ราคาแพงกว่า
อย่างไรก็ตาม ยาไม่ใช่วิธีเดียวในการรักษา รายงานการทบทวนการศึกษาพบว่า อุปกรณ์กระตุ้นประสาทหลายชนิดให้ผลดีกว่าอุปกรณ์หลอก ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ได้ที่บ้านและใช้แรงของไฟฟ้าหรือแม่เหล็กเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทบางเส้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณปวด “อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการหลีกเลี่ยงยา หรือเป็นอุปกรณ์เสริมร่วมกับการใช้ยา” Dr.VanderPluym กล่าว
แต่ทั้ง Dr.VanderPluym และ Dr.Burch ได้ชี้ให้เห็นอุปสรรคประการหนึ่ง คือ ราคา กรมธรรม์โดยทั่วไปจะไม่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยเงินของตัวเอง
รายงานศึกษาทบทวนนี้ยังเน้นกลุ่มยาที่ไม่ควรใช้สำหรับอาการปวดไมเกรน ได้แก่ ยา opioid ยาอื่น ๆ เช่น OxyContin และ Vicodin มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและการติดยา และเมื่อใช้กับอาการปวดไมเกรน ยาเหล่านี้จะไม่ได้ผล Dr.Burch กล่าว
ผลสุดท้าย ตามที่ Dr.VanderPluym กล่าว คือ แผนการรักษาไมเกรนที่ถูกต้องจะปรับเปลี่ยนไปตามรายบุคคล โดยประสิทธิผล ความปลอดภัย กับค่าใช้จ่ายล้วนมีความสำคัญทั้งหมด
การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก U.S. Agency for Healthcare Research and Quality โดย Dr. VanderPluym ให้คำปรึกษาหรือรับทุนวิจัยจากผู้ผลิตยา Teva และ Amgen
ลดปวดไมเกรนใช้ยาอะไรดีที่สุด
Amy Norton, HealthDay News