คาดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอาจมีให้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความสำเร็จของวัคซีนนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มหาศาล
Prof. Sir Michael Houghton ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์พร้อมกับนักวิทยาศาสตร์อีก 3 คน ในปี 1989 จากการค้นพบไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า วัคซีนที่จะช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C virus (HCV) อาจออกมาให้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีการนำเสนอการพัฒนาวัคซีนนี้เป็นกรณีพิเศษต่อที่ประชุมออนไลน์ของ European Congress of Clinical Microbiology and Infectious Diseases ในปีนี้
“แม้จะมียากลุ่ม directly acting antivirals (DAAs) ในการรักษาโรคตับอักเสบซี เป็นอาวุธสำคัญในการตอบโต้กระแสการแพร่ระบาดของโรคนี้แล้ว แต่เราก็ไม่มีข้อกังขาว่าจำเป็นต้องมีวัคซีนเพื่อช่วยโลกให้บรรลุเป้าหมายที่สูงมากในการลดการติดเชื้อใหม่ของโรคตับอักเสบซีลงร้อยละ 90 และลดอัตราการเสียชีวิตลงร้อยละ 65 ภายในปี 2030" Prof. Houghton กล่าวในเอกสารเผยแพร่ข่าว
Prof. Houghton อภิปรายถึงวิธีที่ชุมชนวิทยาศาสตร์เรียนรู้ว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอะไรช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และวิธีที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยี RNA ใหม่ และเทคโนโลยีจากไวรัสอะดิโน (adenovirus-based technologies) สามารถผลิตซ้ำการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้อีกโดยผ่านการให้วัคซีน
Prof. Houghton และคณะผู้ร่วมงานกำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนา recombinant vaccine ที่ได้รับสารเสริมฤทธิ์ ที่อาจนำไปสู่การผลิตแอนติบอดีต่อ multiple cross-neutralizing epitopes ซึ่งทำให้ไวรัสหลบหนีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่อาศัยสารน้ำ (humoral immune response) ได้ยากยิ่งขึ้น
Prof. Houghton คาดว่าการทดลองเฟสที่ 1 ในปี 2022 โดยใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) ที่แตกต่างกัน ตามด้วยเฟสที่ 2 เป็นการทดลองผลสัมฤทธิ์ในมนุษย์ตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2026 ไม่ว่าจะทดลองในประชากรกลุ่มเสี่ยงหรือผ่านการทดลองวัคซีนในมนุษย์
“ถ้าได้พิสูจน์ความปลอดภัยและผลสัมฤทธิ์แล้ว การนำวัคซีนไปใช้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้รับยารักษา จะสามารถเริ่มได้ในปี 2026/2027” Prof.Houghton กล่าว
“หลังจากการทดลองในเฟสที่ 3 แล้ว จะสามารถส่งวัคซีนโรคตับอักเสบซีไปยังกลุ่มเสี่ยงได้ภายในหรือประมาณปี 2029 ได้แก่ กลุ่มชายรักชาย บุคลากรที่ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพ และทารกซึ่งเกิดจากมารดาที่เป็นโรคตับอักเสบซีทุกประเทศทั่วโลก”
ความสำเร็จของวัคซีนไวรัสตับอักเสบซีจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล โดยคาดว่าการช่วยผู้ป่วยด้วยการฉีดยา DAAs เป็นเวลาร่วม 10 ปี ทำให้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 24 พันล้านบาท) เทียบกับประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 480 ล้านบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายวัคซีนเพื่อป้องกันประชากรเหล่านี้
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซีอาจมีใช้ในอีก5ปี
Jill Murphy, PharmacyTimes