ยารักษาปลอกประสาทอักเสบให้ความหวังบรรเทาอาการแย่ลงช่วงหลัง

BBC News

การศึกษายาใหม่เพื่อรักษาโรคปลอกประสาทอักเสบขั้นรุนแรงแสดงว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอความคืบหน้าของโรคได้ในระยะสั้น แม้ยังให้ผลที่เล็กน้อยก็ตาม
    ในการทดลองกับผู้เข้าร่วมการศึกษา 1,327 คน รายงานในวารสาร The Lancet พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 26 มีภาวะพิการแย่ลงหลังจากใช้ยา siponimod สามเดือน เมื่อเทียบกับร้อยละ 32 ของผู้ที่ใช้ยาหลอก
    ปัจจุบันไม่มียาสำหรับโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดที่อาการเลวลงช่วงหลัง (secondary-progressive multiple sclerosis)
    ผู้เชี่ยวชาญโรค MS ออกมาเตือนว่า ยังจำเป็นต้องมียารักษารุ่นใหม่ออกมา
    ประชากรประมาณ 100,000 คนในสหราชอาณาจักรเป็นโรค MS ซึ่งมีอาการรุดหน้าตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ระหว่างอายุ  20 ถึง 70 ปี
    MS มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางและก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น  สมดุลในการทรงตัว  อาการเหนื่อย  กล้ามเนื้อเกร็ง  และความจำ
    ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเป็น MS ชนิดที่มีอาการเป็นๆ หายๆ (relapsing-remitting MS) และผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนมากจะพัฒนาไปเป็นชนิดที่อาการเลวลงช่วงหลัง
    ผู้ป่วยในการทดลองครั้งนี้ เป็นโรค MS เป็นเวลา 17 ปีโดยเฉลี่ย และ 4 ปีสำหรับ MS ที่อาการเลวลงช่วงหลัง
    ส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับการเดินก่อนการทดลองจะเริ่มต้น
    เมื่อใช้มาตรฐานการวัดความพิการเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโรค พบว่า ความเสี่ยงที่การเดินและเคลื่อนไหวแขนจะแย่ลงสำหรับผู้ที่ได้รับยานี้ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยาหลอก
    แต่คณะผู้วิจัยนานาประเทศพบว่า ยาไม่มีผลต่อการคงความเร็วในการเดินของผู้ป่วย และมีผลข้างเคียงบางอย่าง แม้ยังเชื่อว่ายานี้มีความปลอดภัย
    Prof Ludwig Kappos ผู้นำการวิจัยจาก University of Basel กล่าวว่า “แม้ผลที่ออกมาจะไม่ดีเท่าที่เราต้องการ แต่เป็นการศึกษาขนาดใหญ่มาก ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง
    “นั่นหมายความว่า ยา siponimod  เป็นทางเลือกหนึ่งในการชะลอโรคที่จะคืบไปสู่ขั้นรุนแรง”
    Dr Susan Kohlhaas ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแห่ง MS Society กล่าวว่า “ผลดังกล่าวช่วยให้เราเข้าใกล้การรักษาโรคได้เป็นครั้งแรกสำหรับผู้ป่วยโรค MS ที่อาการเลวลงช่วงหลัง  นั่นคือ ข่าวสำคัญ
    “การทดลองครั้งนี้แสดงวา ยา siponimod ให้ผลปานกลางแต่มีนัยสำคัญในการชะลอความพิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยหนุนใจได้อย่างเหลือเชื่อจริงๆ
    แต่ Dr Luanne Metz จาก University of Calgary ประเทศแคนนาดา กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการทดลองครั้งที่สองเพื่อยืนยันผลดีของยาและผลกระทบหลังจากผ่านเวลา 3 ถึง 6 เดือน
    “ในความเห็นของเรา...การไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผลลัพธ์ทางคลินิกครั้งที่สองเป็นผลที่น่าผิดหวัง และไม่แสดงว่า ยา siponimod เป็นยารักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับ MS ชนิดที่อาการเลวลงช่วงหลัง
    เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ยังจำเป็นต้องมีการทดลองวิธีรักษาแบบใหม่อื่นๆ ที่เล็งเป้าหมายต่อกลไก non-inflammatory mechanisms
    ก่อนที่ยาจะสามารถออกมาให้ใช้ได้ จำเป็นต้องไดรับความเห็นชอบจาก European Medicines Agency และให้ข้อแนะนำว่าเป็นยาที่ประหยัดคุ้มค่าใช้จ่ายโดยองค์การต่างๆ ในสหราชอาณาจักร