ยาทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

Alex Therrien, BBC News

เมื่อคุณได้ยินว่ายามีผลข้างเคียง คุณอาจคิดถึงปฏิกิริยาทางกายภาพ เช่น มีผื่น หรือปวดศีรษะ แต่ตามผลการศึกษาครั้งใหม่ที่สหรัฐอเมริกา พบว่า ยาที่ควบคุมโดยใบสั่งยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้
    รายการของบรรดายาเหล่านี้ ได้แก่ ยาโรคหัวใจ ยาคุมกำเนิด และยาแก้ปวดบางชนิด   มากกว่า 1 ใน 3 ของยาที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาใช้อยู่ จะมีโรคซึมเศร้าเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
    การศึกษาใน Journal of the American Medical Association ได้ศึกษาเฉพาะผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และใช้ยาควบคุมตามใบสั่งยาอย่างน้อยที่สุด 1 ชนิด ระหว่าง ค.ศ. 2005 ถึง 2014
    การศึกษาครั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 37 ของยาที่ควบคุมตามใบสั่งยาเหล่านี้ ซึ่งรวมไปถึงยาแก้ปวดและยาลดกรดในกระเพาะอาหารด้วย มีโรคซึมเศร้าเป็นอาการหนึ่งในผลข้างเคียงที่มีโอกาสเป็นไปได้
    อัตราของโรคซึมเศร้าสูงกว่าในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ใช้ยาเหล่านี้ โดยปรากฏอัตราการเกิดโรค ดังนี้
    - ร้อยละ 7 ในกลุ่มผู้ที่ใช้ยา 1 ชนิด
    -  ร้อยละ 9 สำหรับผู้ที่ใช้ยา 2 ชนิด
    -  ร้อยละ 15 สำหรับผู้ที่ใช้ยาตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป
    มีการประเมินว่า ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีปัญหาจากโรคซึมเศร้า
    Dima Qato ผู้นำการเขียนรายงาน ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ University of Illinois กล่าวว่า “หลายคนอาจแปลกใจที่ได้เรียนรู้ว่า แม้ว่ายาของเขาจะไม่ได้มีผลอะไรกับอารมณ์หรือความวิตกกังวล หรืออาการอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปกลับมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าได้
    อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่ายาเป็นสาเหตุของภาวะอารมณ์ที่ลดลงหรือไม่
    ความรู้สึกไม่สบายด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกแย่ลง และเป็นไปได้ที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาบางคนอาจมีประวัติโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญว่าอย่างไร
    ผู้เชี่ยวชาญที่สหราชอาณาจักร เตือนว่า รายงานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างยาดังกล่าวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของสาเหตุและผลลัพธ์
    Prof. David Baldwin จาก Royal College of Psychiatrists กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่การใช้ยารักษาอาการป่วยทางกายภาพ อย่างเช่น โรคหัวใจและปอด จะมีความสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า เพราะอาการป่วยทางกายภาพเหล่านี้โดยตัวเองนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคซึมเศร้า”
    Royal College of General Practitioners (GPs) ยังชี้ว่า การค้นพบทั้งหมดไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ในสหราชอาณาจักร  เนื่องจากระบบสุขภาพแตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา
    อย่างไรก็ตาม Prof. Helen Stokes-Lampard ประธานของ Royal College of GPs กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานแสดงให้เห็นว่า มีความสำคัญมากแค่ไหนที่ผู้ป่วยต้องเปิดเผยยาที่ตนอาจจะใช้อยู่ซึ่งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอาจไม่ทราบ หรือบอกกับเภสัชกรเมื่อไปซื้อยาที่จำหน่ายทั่วไป

อะไรคือความเสี่ยง    
    ความเสี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับยา สำหรับยาบางชนิด โรคซึมเศร้าเป็นผลข้างเคียงโดยทั่วไป เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดบางอย่าง  แต่สำหรับยาบางชนิด มีโรคซึมเศร้าน้อยมาก
    ผลข้างเคียงที่พบทั่วไปจะกระทบต่อผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 10 คน  ขณะเดียวกันผลข้างเคียงพบได้น้อยมากจะกระทบต่อผู้ป่วยน้อยกว่า 1 ใน  10,000 คน
    ข้อมูลนี้จะพิมพ์ไว้ภายในบรรจุภัณฑ์ของยาในเอกสารกำกับยาและสามารถค้นหาได้บนออนไลน์
    Prof. David Taylor จาก Royal Pharmaceutical Society สหราชอาณาจักร บอกว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาว่า จะมี “คำอธิบายที่เป็นไปได้” หรือไม่ว่าทำไมยาถึงทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
    ตัวอย่างเช่น การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างระดับฮอร์โมนกับอารมณ์
    แต่กับยาอื่น ๆ อย่างเช่น ยาโรคหัวใจนั้นแยกแยะได้ยากว่าเป็นที่ยาหรืออาการ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า Prof. Taylor กล่าว
    “เราไม่ได้เก่งมากในการจะแยกแยะได้ว่าอะไรที่มียาเป็นสาเหตุ และอะไรที่เกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนที่ผู้ป่วยกำลังรับการรักษา ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับยา”
    ถ้าปัจจุบันคุณใช้กำลังยาเหล่านี้อยู่และไม่มีสัญญาณของโรคซึมเศร้าแล้ว คุณไม่ควรจะกังวลใจ Prof. Taylor แนะนำ
    สำหรับผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้แล้วรู้สึกถึงอาการซึมเศร้า Prof. Taylor แนะนำให้คุยกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปของคุณ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาว่าจะมียาที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือไม่
    ถ้าคุณคิดจะใช้ยาเหล่านี้แล้ว สมควรที่จะใช้ “ความระมัดระวัง”
    “ข้อแนะนำนี้ใช้ได้โดยเฉพาะในกรณีที่คุณใช้ยาอีกชนิดหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งเป็นยาที่มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า”